ชื่นชม “วัดร่องขุ่น” สุดยอด “งานพุทธศิลป์”

กล่าวไปแล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกกับท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2554 นั้น ก็ถือเป็นคนกันเอง หรือ “กากี่นั้ง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว เพราะรู้จักคุ้นเคยกันมากว่า 30 ปีแล้วกระมัง

พบเจอกันที่ไหน และเมื่อไรก็ตาม ท่านอาจารย์เฉลิมชัยจะส่งเสียงทักทายดังกว่าเสียงพูดตามปกติของท่าน (ซึ่งก็ดังอยู่แล้ว) อีกประมาณ 2 เท่าเห็นจะได้ เพื่อแสดงถึงความสนิทสนมระหว่างท่านกับหัวหน้าทีมซอกแซก อันยาวนานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทั้งที่สนิทสนมกันถึงขนาดนี้ และในขณะเดียวกันหัวหน้าทีมก็ทราบมานานแล้วว่า วัดร่องขุ่น ของจังหวัดเชียงราย อันขึ้นชื่อลือชาเป็นที่โจษขานทั้งประเทศไทยและนานาประเทศว่า เป็นวัดที่สวยงามเหลือเกินนั้น เป็นผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ของท่านอาจารย์ขนานแท้

แต่ก็ปรากฏว่าหัวหน้าทีมซอกแซก ซึ่งเคยไปซอกแซกจังหวัดเชียงรายมานับสิบๆ ครั้ง กลับไม่เคยแว่บไปที่วัดร่องขุ่นอย่างชนิดลงไปเดินชื่นชมตั้งแต่ประตูทางเข้าวัดถึงประตูทางออกด้านหลังวัดเลยสักครั้งเดียว

ได้แต่นั่งรถเฉียดไปเฉียดมาเท่านั้นเอง

ด้วยเหตุฉะนี้ จึงตั้งใจว่าไปเชียงรายหนนี้ต้องไม่พลาดอีกแล้วล่ะ เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นคนตกเทรนด์ที่ไปเชียงรายหลายที กลับไม่ได้ ไปที่วัดแห่งนี้ รู้ไปถึงไหนก็จะเชยไปถึงนั่น

ก็พอดีจังหวะมีคิวว่างอยู่หลายชั่วโมง ในวันที่สองก่อนเข้างานเทศกาลบอลลูนในช่วงหัวค่ำ จึงรีบบึ่งไป วัดร่องขุ่น ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลป่าอ้อ-ดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ออกจากตัวเมืองไปตามถนนพหลโยธิน ที่จะไปจังหวัดพะเยา เพียง 12-13 กิโลเมตรเท่านั้น

รีบแวะไปถ่ายรูปกับท่านอาจารย์เฉลิมชัยก่อนอะไร ทั้งหมดทันที….เป็นรูปบนแผ่นไม้อัดฉลุไว้เท่าตัวอาจารย์น่ะครับ ไม่ใช่ตัวจริงของท่านหรอก ทางวัดเขาตั้งไว้เพื่อเป็นจุดสำหรับเช็กอินว่าได้มาถึงวัดร่องขุ่นแล้ว ได้ถ่ายรูปกับอาจารย์เฉลิมชัยเรียบร้อยแล้วว่างั้นเถอะ

จากนั้นก็เดินตามสาธุชนนักท่องเที่ยว ซึ่งในวันที่ทีมงานซอกแซกไปเดินซอกแซกนั้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทยเราจากจังหวัดต่างๆ นั่นเอง เหตุเพราะเป็นช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มอาละวาดแล้วอย่างหนักที่ประเทศจีน และรัฐบาลจีนก็ออกประกาศห้ามคนจีนเดินทางไปต่างแดน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนวูบหายไปในบัดดล รวมทั้งที่จังหวัดเชียงรายและวัดร่องขุ่นด้วย

จุดที่จะต้องแวะให้ได้ก็คือ โบสถ์ หรือพระอุโบสถสีขาวบริสุทธิ์ทั้งหลัง ที่อาจารย์เฉลิมชัยเคยบอกว่า หมายถึงความบริสุทธิ์คุณของพระพุทธเจ้า และก่อนจะเดินเข้าไปถึงพระอุโบสถ จะต้องก้าวข้ามสะพานสีขาวบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน ระหว่างทางก็จะพบเห็นสุข เห็นทุกข์ต่างๆ ของมนุษย์ รวมทั้งขุมนรกที่บรรดามนุษย์บาปต่างชูมือสลอนอยู่ข้างล่าง ต้องก้าวข้ามไปจึงจะได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ คือได้กราบพระพุทธรูปในพระอุโบสถดังกล่าว

บ้างก็บอกว่า นี่คือสะพานแห่ง “วัฏสงสาร” อันหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลก โดยเฉพาะมนุษย์ในภพภูมิต่างๆ ทำชั่วก็ลงสู่นรกภูมิ เป็นเปรตขอส่วนบุญ ทำดีก็จะได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนเดินข้ามสะพานไปยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ที่รออยู่ข้างหน้า และเมื่อข้ามสะพานเรียบ ร้อยก็ถือว่าหลุดพ้น ขอให้ผ่านพ้นไปเลย ห้ามสวนทางกลับเชียวนะครับ เดี๋ยวจะลงไปอยู่ในนรกกับบรรดาเปรตใหญ่น้อย ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดซะเปล่าๆ

ยังไม่หมดแค่นี้นะครับ เดินไปเรื่อยๆ รอบๆ วัดยังมีของสวยๆ งามๆ ให้เราเดินชมและถ่ายรูปได้อีกเพียบ แม้แต่ห้องน้ำสีทองเหลืองอร่าม ด้านหน้าเป็นภาพวาดผู้ชายและผู้หญิงชาวเหนือใหญ่เบ้อเริ่ม บนผนังที่วาดลวดลายไว้อย่างอ่อนช้อย ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าจะถ่าย (รูป) ไว้เป็นที่ระลึกด้วยเช่นกัน

ด้านหลังวัดจะเป็นที่ตั้งของอาคารสีทองโดดเด่นมีชื่อว่า หอพระพิฆเนศ ซึ่งจะมีห้องแสดงนิทรรศการอยู่ด้วย จะแวะไปถ่ายภาพกับหออันตระการตา หรือจะแวะดูนิทรรศการก็ได้ทั้ง 2 ประการ

สุดท้ายจริงๆ มาถึงวัดร่องขุ่นแล้วไม่ได้แวะ หอศิลป์ อ.เฉลิมชัย ผู้รังสรรค์วัดแห่งนี้ก็เหมือนขาดอะไรไปอย่าง หอศิลป์ดังกล่าวนี้ จะอยู่ไปทางประตูออกด้านหลัง ซึ่งจะถือเป็นประตูเข้าก็คงได้ หากเราขับรถไปจอดทางด้านนั้น

ที่นี่ท่านผู้อ่านจะได้พบกับงานศิลป์จากฝีมือศิลปินแห่งชาติ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในยุคต่างๆ ที่นำมาเรียงให้ชมอย่างจุใจ รวมทั้งยังมีผลงานของภริยาท่านอาจารย์ให้ชมอีก 3 ชิ้น และของลูกชายที่กำลังดัง ณภัส “แทน” โฆษิต-พิพัฒน์ อีก 3 ภาพ

สำหรับณภัส หรือแทน ลูกชายของท่านอาจารย์เฉลิมชัย ที่พ่อส่งไปเรียนวิชาภาพยนตร์ ที่เมืองนอกตั้งแต่จบมัธยม แต่กลับมีฝีมือในการเขียนภาพอย่างยิ่ง และได้ฝากผลงานไว้ในหนังสือ ชื่อ “แทนคุณ” บันทึกเรื่องราวของแทน เมื่อครั้งไปสมัครเป็นพลทหารรับใช้ชาติ ด้วยการวาดไว้เป็นภาพทั้งเล่ม…ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นอย่าง ที่โบราณว่าไว้จริงๆ

ครับ! ตั้งใจจะใช้เวลาสัก 30-40 นาที หัวหน้าทีมซอกแซกเลยอยู่เสียเกือบ 2 ชั่วโมง ด้วยความอิ่มเอิบใจในความอลังการและสง่างามของวัดร่องขุ่น วัดที่ อาจารย์เฉลิมชัย โฆสิต-พิพัฒน์ ทุ่มเทใช้สติปัญญาในการออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างด้วยแรงบันดาลใจจากสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ดังที่ท่านอาจารย์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้หลายต่อหลายครั้ง

ตลอด 2 ชั่วโมงรอบๆ วัด หัวหน้าทีมซอกแซกได้มีโอกาสสัมผัสกับงานศิลป์ ที่อาจารย์เรียกว่าพุทธศิลป์ ด้วยความดื่มด่ำอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะคนที่ชื่นชมในงานศิลป์ต่างๆ และในฐานะพุทธศาสนิกชน ที่ยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด

กลับมากรุงเทพฯ หลายวันแล้ว ยังไม่มี โอกาสเจออาจารย์เฉลิมชัยเลยและก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เจอเมื่อไร…แต่ก็ได้ตั้งใจไว้แล้วว่า ถ้าเจอประโยคแรกที่จะบอกอาจารย์เฉลิมชัยนั้น จะขอใช้ภาษาที่หัวหน้าทีมกับอาจารย์ใช้สนทนากันอยู่บ่อยๆ คือภาษาง่ายๆ บ้านๆ กล่าวกับอาจารย์ว่า

“นายแน่มาก…แน่จริงๆ เรายกนิ้วโป้งให้ทั้ง 2 มือพร้อมๆ กันเลยเฉลิมชัย!”.

“ซูม”