ออนเซนเข็นกระเป๋า…”พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า”

หยุดวันครูที่ผ่านมา คุณแม่ก็พาออนเซนและน้องโอโซนไปหาที่เที่ยวเสริมความรู้กันค่ะ คราวนี้ไปที่ “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)” คลองห้า ปทุมธานี 

ภายในพื้นที่ อพวช. ประกอบด้วย 4 พิพิธภัณฑ์ค่ะ ได้แก่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (ที่เรียกกันว่า “ตึกลูกเต๋า”) พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และล่าสุดคือพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562

วันนี้เราตั้งใจไปที่เดินพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าโดยตรง เพราะเคยเที่ยวที่อื่นครบแล้ว ทีแรกคิดว่าเดินสัก 2-3 ชั่วโมงก็น่าจะทั่ว แต่ปรากฏว่าใช้เวลาทั้งวันอย่างเต็มที่ในพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เพราะแต่ละชั้น แต่ละโซนนั้นมีความน่าสนใจมากมายจริงๆ

ที่ “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)” นี้ เปิดบริการวันอังคารถึงศุกร์เวลา 9.30 น. – 16.00 น. วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา 9.30 น. – 17.00 น. (โดยจะปิดทำการทุกวันจันทร์)

อัตราค่าเข้าชม เด็กฟรี ผู้ใหญ่ 200 บาท (มีโปรโมชั่น จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ลดราคาค่าเข้าชมผู้ใหญ่เหลือ 100 บาท และบัตรเข้าพิพิธภัณฑ์รายเดือน สำหรับเข้าชม 4 พิพิธภัณฑ์ภายในเวลา 30 วัน ราคา 300 บาท) ซึ่งโปรโมชั่นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะคะ *หากต้องการซื้อตั๋วรวมหลายพิพิธภัณฑ์ต้องไปซื้อที่ตึกลูกเต๋าเท่านั้นค่ะ

ที่จอดรถหน้าพิพิธภัณฑ์พระรามเก้านั้นมีไม่มาก คุณแม่แนะนำให้จอดรถที่ลานจอดรถหน้าตึกลูกเต๋าเลยค่ะ ไม่ต้องไปวนหาที่จอดให้เสียเวลา เขามีรถรับส่งตลอดเวลาค่ะ

ที่พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าก็มีกิจกรรมมากมายให้เลือกทำ สามารถดูตารางกิจกรรมได้ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ค่ะ โดยบางกิจกรรมจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและรับจำนวนจำกัด

กิจกรรมที่แนะนำให้จอง ได้แก่ “Big Bang” โซน Our King มีค่าบัตรคนละ 10 บาท เพื่อชมวิดิทัศน์ 360 องศาเกี่ยวกับการเกิดจักรวาลและระบบสุริยะ โดยจะมีรอบทุก 20 นาที, “Life in Dry Zone” โซนทะเลทราย มีค่าบัตรคนละ 30 บาท เพื่อชมภาพยนตร์ 4D เกี่ยวกับทะเลทราย วันธรรมดาเปิดรอบ 15:00 น. รอบเดียว ถ้าเสาร์อาทิตย์จะมีทุกต้นชั่วโมงค่ะ (รับจำกัด 30 คน) *สามารถซื้อคูปองได้ที่เคาน์เตอร์แต่ละโซน หรือซื้อคูปองรวมที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ค่ะ

ภายในพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่บ้านของเรา ชีวิตของเรา และในหลวงของเรา

“บ้านของเรา” เรียนรู้การระเบิดครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดระบบสุริยจักรวาล เรียนรู้เรื่องราวของเซลล์ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งมีชีวิตและถ่ายทอดลักษณะผ่านทาง DNA ย้อนเวลากลับไปศึกษาการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคไดโนเสาร์ เรียนรู้วิวัฒนาการของมนุษย์ รู้จักบ้านของแต่ละสิ่งมีชีวิต

“ชีวิตของเรา” เรียนรู้ผ่านโซนต่างๆ ของโลก อาทิ Antarctica, Arctic, Trudra, Taiga, Desert, เขตอบอุ่น, เขตร้อน รวมถึงเรื่องราวของดินและน้ำ และวนนิเวศของไทย

“ในหลวงของเรา” เดินชมหอเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และเรียนรู้เรื่องราวพระราชกรณียกิจต่างๆ

มุมที่ออนเซนและโอโซนชอบมากได้แก่ Big Bang, โซนไดโนเสาร์, อุโมงค์ลมแดนแอนตาร์กติกา, บ้านสไลเดอร์จิ๋วของบีเวอร์, โรงน้ำชากลางทะเลทราย, สไลเดอร์บนต้นโอ๊คยักษ์, หน้าผาจำลองในเขตป่าร้อน, จุดชมวิวมุมสูงริมน้ำตก

หลังจากเดินเพลินจนเหนื่อยก็แวะพักที่จุดพักผ่อนได้บริเวณชั้น 1 ซึ่งมีตู้กดเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวไว้บริการ เด็กๆ ชอบมากค่ะ

ติดตามข่าวสารกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ www.nsm.or.th

ปล. ที่เที่ยวย่านนี้ยังมีอีกแห่งที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ชื่นชอบไดโนเสาร์โดยเฉพาะ นั่นคือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ”