สงครามการค้า “ยก 2” เขย่าเศรษฐกิจโลกอีกรอบ

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ในช่วงเวลาค่ำๆ ของวันพุธที่ 4 กันยายนที่ผ่านมานั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนระลอกใหม่ย่างเข้าสู่วันที่สี่พอดิบพอดี

นับจากวันที่การขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มเติมตอบโต้กันไปมาของทั้ง 2 ประเทศรอบนี้เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 กันยายน

โดยทางฝ่ายสหรัฐฯ เริ่มจัดเก็บเพิ่มขึ้นอีก 15 เปอร์เซ็นต์จากสินค้าจีนมูลค่าประมาณ 125,000 ล้านเหรียญ ซึ่งจะรวมถึงสินค้าไฮเทคต่างๆ และรองเท้ากีฬาด้วยส่วนหนึ่ง

ในขณะที่จีนก็สั่งเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีมูลรวมกัน 75,000 เหรียญ รวม 5,078 รายการในอัตรา 5-10 เปอร์เซ็นต์

แต่จะเริ่มทันทีในวันที่ 1 กันยายน 1,717 รายการ และส่วนที่เหลือจะลงมือเก็บในวันที่ 15 ธันวาคม

ดูจากตัวเลขรวมๆ เหมือนว่าจีนจะเจ็บตัวมากกว่า เพราะโดนเยอะกว่า แต่นักวิเคราะห์บอกว่าสินค้าจีนลอตนี้ส่วนใหญ่ผลิตโดยโรงงานอเมริกันที่ไปอยู่ในจีน เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าบริษัทอเมริกันนั่นเองที่จะเป็นฝ่ายเจ็บตัว

แถมจะเจ็บแบบ 2 เด้งด้วย เนื่องจากคนอเมริกันที่เป็นผู้บริโภคสินค้าที่ว่านี้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นไปอีก

ในสายตาของนักวิเคราะห์บางกลุ่มจึงมองว่าสหรัฐอเมริกาน่าจะเสียเปรียบในการ “ซัลโว” ชุดนี้

ตรงข้ามกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เชื่ออย่างมากว่าสหรัฐฯ ได้เปรียบ และจีนกำลังตกอยู่ในความยากลำบากโดยเขียนลงทวิตเตอร์ว่าจีนควรจะมาเจรจาและหาทางบรรลุข้อตกลงโดยเร็ว

ทรัมป์ขู่ด้วยว่าจีนกำลังเตะถ่วงรออยู่ โดยหวังว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่…ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะถ้าเขาได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกหนละก็จีนจะเจอหนักกว่านี้

เป็นธรรมดาของการทำสงครามไม่ว่าสงครามทั่วๆ ไป หรือสงครามเศรษฐกิจ ผู้ทำสงครามทั้ง 2 ฝ่ายมักจะอ้างว่ายฝ่ายตนชนะหรือกำลังได้เปรียบแต่ในข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรคงต้องรอให้ควันปืน (จากการขึ้นภาษีทั้ง 2 ฝ่าย) จางลงไปกว่านี้อีกสักนิดจึงจะมานับศพทหาร หรือประเมินผลแพ้ชนะกันได้

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการทำสงครามในลักษณะนี้ ยากจะมีฝ่ายใดชนะ เพราะยิ่งสู้รบกันไป นอกจากจะกอดคอกันจมน้ำตายไปด้วยกันทั้งคู่ แล้วยังจะทำให้เศรษฐกิจโลกพลอยแย่ไปด้วย

ที่ผ่านมานับแต่ 2 ประเทศนี้เริ่มต้นซัลโวกันในรอบแรกโลกเราก็ออกอาการไม่ค่อยดีมาตลอด เห็นชัดจากการหดตัวลงของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งของยุโรปด้วยในช่วงครึ่งปีแรก

การเจรจาเพื่อหาทางบรรลุข้อตกลงที่เหมาะสมระหว่าง 2 ประเทศ จึงควรที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่จะเกิดผลเสียไปมากกว่านี้

อย่างที่ผมเคยบอกไว้แหละครับว่าแม้การตัดสินใจโฉ่งฉ่างของคุณทรัมป์จะทำให้แกกลายเป็นตัวผู้ร้ายของโลก แต่อย่าลืมว่าเหตุที่ทำให้ทรัมป์ต้องเล่นบทบาทนี้ก็เพราะการขาดดุลการค้าที่มีต่อจีนอย่างมากติดต่อกันมาหลายๆ ปีนั่นเอง

ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะอยู่ได้ด้วยภาระการขาดดุลการค้าที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

จีนซึ่งได้เปรียบเชิงการค้ามาตลอดจะต้องเข้าใจในประเด็นนี้ด้วย และควรจะหาทางรอมชอมด้วยการซื้อของจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น

ผมหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะหันหน้ามาเจรจากันอย่างจริงจังอีกครั้ง และลดท่าทีอันแข็งกร้าวของแต่ละฝ่ายลง เพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่เป็นผลดีทั้งแก่ 2 ประเทศเอง และต่อโลกเป็นส่วนรวมตามมาในที่สุด

อย่าลืมนะครับว่าถ้าตกลงกันไม่ได้เศรษฐกิจโลกมีหวังป่วนระลอก 3 แน่ๆ เพราะยังมีสินค้าอีกหลายแสนล้านเหรียญที่ทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นบัญชีไว้ว่าจะมีการขึ้นภาษีอีกระลอกในช่วงปลายๆ ปี

ในส่วนของรัฐบาลไทยผมก็ขอเสนอแบบเดิมๆ คือให้จับตาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่าบุ่มบ่ามอย่างหลวมตัวอะไรมาก

ความฝันที่จะไป 4.0 ถ้ามันยากนักก็ชะลอไว้ก่อน เอาแค่ 3.5 ก็พอครับบิ๊กตู่ เพราะช่วงนี้สถานการณ์ของโลกไม่อำนวยให้

การนิ่งเฉยไว้มองขวามองซ้ายตั้งสติเสียหน่อยก่อนเดินหน้าอาจจะเป็นเรื่องที่ดีและเหมาะที่สุดสำหรับประเทศเรา.

“ซูม”