เหตุการณ์ระทึกขวัญที่ “ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน” อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทำให้ผมแว่บนึกไปถึงสำนวนสำนวนหนึ่งที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยใช้ในการเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง
ได้แก่สำนวนที่ว่า “ชีวิตกูเป็นกำไร”
ในนิยายเรื่อง “หลายชีวิต” ที่บอกเล่าถึงเรือโดยสารในลำน้ำเจ้าพระยาที่มุ่งสู่กรุงเทพฯ แต่มาคว่ำจมลงที่คุ้งสำเภา ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตไปหลายๆชีวิต แต่ละชีวิตต่างก็มีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน
“เจ้าลอย” เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตและเป็นหนึ่งในตัวละครของ “หลายชีวิต” ที่เปรียบเสมือนตัวผู้ร้าย เพราะเป็นโจร เป็นไอ้เสือโหดเหี้ยม ตั้งใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปซื้ออาวุธใหม่ๆมาปล้นชาวบ้านต่อไปอีก
เจ้าลอย เป็นลูกใครไม่รู้ เพราะพ่อแม่คงไม่อยากเลี้ยงไว้ จึงจับมันลงหม้อลอยน้ำให้ไปตายดาบหน้า แต่โชคดีหม้อใบนั้นลอยมาติดอยู่หน้าบ้าน ยายพริ้ม…ยายแกก็เลี้ยงไว้เหมือนลูก
แต่ความที่ยายพริ้มเป็นคนซื่อ มีอะไรแกก็บอกทุกๆคนรวมทั้งเจ้าลอยให้รู้ว่าเป็นเด็กถูกพ่อแม่จับลอยน้ำมา โชคดีที่มาติดอยู่หน้าบ้านแก แกก็เลี้ยงไว้ด้วยความสงสาร
ทำให้เจ้าลอยไม่รู้สึกเป็นบุญคุณ หรือมีความผูกพันกับยายพริ้มและไม่ผูกพันกับใครทั้งสิ้น ต่อมาเจ้าลอยก็กลายเป็นคนโหดเหี้ยมทำความชั่วร้ายสารพัดและในที่สุดก็ไปเป็นโจร
จากนั้นก็คิดการใหญ่จะไปซื้ออาวุธใน กทม.มาปล้นต่อ และระหว่างนั่งเรือมาก่อนเรือล่ม เจ้าลอยซึ่งนั่งคิดถึงชีวิตแต่หนหลังของมันมาเรื่อยก็บอกตัวมันเองว่า “ชีวิตกูเป็นกำไร”
หมายถึงว่ามันควรจะตายตั้งแต่ถูกพ่อแม่จับลงหม้อลอยไปตามกระแสน้ำนั้นแล้ว เมื่อไม่ตายก็ถือว่าชีวิตมันมีกำไรและก็ใช้กำไรชีวิตในทางที่ผิดมาตลอด
สำนวนที่ว่า “ชีวิตกูเป็นกำไร” นี่แหละครับที่ทำให้ผมนึกถึงน้องๆหมูป่า ทั้ง 12 คน บวกโค้ชเอกเป็น 13 คน ที่รอดชีวิตมาจาก “ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน”
ต้องยอมรับความจริงว่า ถ้าทุกๆฝ่ายไม่ร่วมแรงร่วมใจกันระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตน่าจะต้องดับสูญอยู่ในถ้ำ
ดังนั้น เมื่อรอดออกมาได้จึงเท่ากับว่า ชีวิตของน้องๆทั้งหลาย “เป็นกำไร” ดังเช่นสำนวนของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์
คำถามก็คือจะใช้ “กำไร” ในส่วนที่เหลือของชีวิตอย่างไร?
คำตอบก็คือ จะต้องใช้ด้วยความสำรวม และด้วยความสำนึกที่ได้รับความเมตตาปรานีจากการช่วยเหลือของบรรดาผู้ที่มาร่วมแรงร่วมใจทั่วสารทิศนับพันๆคนจากทั่วโลก
ผู้คนเหล่านี้มาช่วยด้วยใจ ด้วยจิตสำนึกประสงค์จะช่วยชีวิตเด็ก โดยไม่มีการเรียกร้องค่าตอบแทนใดๆเลย
ดังนั้น เมื่อได้ชีวิตกลับคืนมาแล้ว ก็ขอให้น้องๆ ใช้ชีวิตไปในทางที่ดีที่ชอบ แต่สถานเดียวเถิด
ตั้งใจเรียนหนังสือให้มากที่สุด เมื่อเรียนจบแล้วก็ประกอบสัมมาอาชีวะ ตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต มีโอกาสช่วยสังคมอะไรได้ก็ช่วยไปตามความเหมาะสม
ผมค่อนข้างมั่นใจว่า สังคมโลกและสังคมไทยไม่ต้องการสิ่งใดเป็นการตอบแทนจากน้องๆมากไปกว่านี้เลย
อย่างในกรณีเจ้าลอยที่อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ท่านแต่งไว้สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าลอยมันโกรธแค้นที่ถูกจับใส่หม้อลอยน้ำ และถึงแม้ยายพริ้มมาช่วยเหลือและเลี้ยงดู แกก็เล่าตอกย้ำแต่ว่ามันถูกลอยน้ำมา
ทำให้เจ้าลอยเกิดความคิดความแค้นใต้จิตสำนึกและประชดด้วยการใช้กำไรชีวิตไปในทางผิดๆ
ต่างกับของน้องๆที่ได้รู้ได้เห็นได้ทราบถึงความพยายามของผู้ให้ความช่วยเหลือที่มาจากทั่วโลกจึงเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน
ขอให้ใช้ชีวิตที่มี “กำไร” ให้ดีที่สุด เพื่อตอบแทนบุญคุณของผู้เสียสละแรงกายแรงใจทั้งหลายรวมทั้ง “จ่าแซม” จ.อ.สมาน กุนัน “วีรบุรุษถ้ำหลวง” ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อน้องๆทุกคน
อย่างที่ลุงบอกนั่นแหละหมูป่าทั้งหลายเอ๋ย ขอให้เติบใหญ่ขึ้นเป็นคนดีของสังคม ทำดีเพื่อสังคม แค่นี้ ลุงว่าคนที่คอยให้กำลังใจลูกๆหมูป่าอยู่ทั่วโลกก็พอใจแล้วล่ะ.
“ซูม”