เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร 1 โดยสรุปจากข่าวที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ คัดหรือสรุปมาเผยแพร่ แม้จะจับใจความได้กว่าร้อยละ 70 แต่ก็มีหลายๆ ส่วนที่ขาดหายไป
หลังจากส่งต้นฉบับไปแล้วหลายชั่วโมง จึงได้มีโอกาสอ่าน นโยบายฉบับเต็มๆ ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทั้งฉบับ ก็รู้สึกว่าผมควรจะให้คะแนนเพิ่มขึ้น
เพราะเขียนได้ดีแบบมือเขียนของระบบราชการ เช่น สภาพัฒน์ หรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเลยทีเดียว
โดยเฉพาะในหมวดตั้งประเด็นปัญหาที่ผู้เขียนร่างให้ท่านนายกฯ ใช้คำว่า “ความท้าทาย” ซึ่งมี 9 ประการนั้น อ่านฉบับเต็ม แล้วก็อดที่จะชื่นชมเสียมิได้ เพราะมีการอ้างอิงข้อมูลตัวเลขด้วย ทำให้เห็นภาพมากขึ้น
มีความท้าทายอยู่ข้อหนึ่งที่ผมขีดเส้นใต้ไว้ว่าจะต้องหยิบมาเขียนแสดงความเห็นเพิ่มเติม ได้แก่ “ประการที่เจ็ด” ที่ระบุว่า
“ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลมาจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้ว ที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”
อ่านแล้วแม้ผมจะเห็นด้วยกับข้อความในประโยคนี้ แต่ก็อดตั้งข้อสังเกตไว้เล็กๆ น้อยๆ เสียมิได้ว่า ผู้ยกร่างดูจะแฝงความน้อยใจเอาไว้ในประโยคที่ว่า “รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจ ในแบบที่คาดเดาไม่ได้” ซึ่งน่าจะสะท้อนเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติในเรื่องจริยธรรม จนเป็นเหตุให้ท่านอดีตนายกฯเศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
ซึ่งจริงๆ แล้ว การถอดถอนครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากว่าผู้ที่มี อำนาจนอกเหนือรัฐบาลบางท่านไม่ส่งชื่อบุคคลที่มีประวัติล่อแหลมมาเป็นรัฐมนตรี จนกลายเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนขึ้น
แต่ก็เอาเถิดเมื่ออ่านรวมทั้งหัวข้อแล้ว ก็เห็นด้วยว่าประเทศไทยของเราได้เผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนานจริง อันเป็นผลจากรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้น
สำหรับการ “แก้” ความท้าทายข้อนี้ในตอนแรก ผมอ่านไม่พบ ในข่าวที่สื่อต่างๆ ตัดทอนมา แต่เมื่อได้มาอ่านฉบับเต็มว่ารัฐบาลจะ ทำอย่างไรบ้าง ก็พบคำตอบในหน้า 12 ถึง 4 ข้อย่อยด้วยกัน ได้แก่
“1.จะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น 2.รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และ ความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน 3.รัฐบาลจะปฏิรูประบบราชการและกองทัพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น และ 4.รัฐบาลจะยกระดับการให้บริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น”
ซึ่งก็ดูเหมือนจะยังไม่ตอบคำถามหรือสามารถแก้ปัญหาการ ไร้เสถียรภาพได้อย่างตรงจุดเท่าไรนัก
ผมเห็นด้วยกับโจทย์ของนายกฯ แพทองธารครับว่า ประเทศเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน…
นอกจากสาเหตุที่เขียนไว้ในคำแถลงนโยบายดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัว นักการเมือง นั่นแหละที่เป็นสาเหตุหลัก
ความขัดแย้งแบ่งขั้วทะเลาะกันรุนแรง, การใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง การคอร์รัปชัน และการละเมิดกฎหมายเสียเองของนักการเมืองจำนวนไม่น้อยเลยครับ ที่เป็นสาเหตุที่อีกฝ่ายเขาหยิบไปอ้างเป็นสาเหตุของการปฏิวัติ และเราก็ไม่มีทางปฏิเสธ
ผมฝากให้แก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วยนะครับ เพราะถ้าไม่แก้เดี๋ยวก็จะกลายเป็น “เชื้อ” ให้อีกฝ่ายเขาอ้างเหตุอีกจนได้
อยากจะเห็นรัฐบาลแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและสัมฤทธิผลมากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มิได้แก้ “อุปนิสัย” ของนักการเมืองจำนวนมากที่เป็นสาเหตุของความไร้เสถียรภาพในปัจจุบันครับ.
“ซูม”