ร่าง “นโยบาย” สอบผ่าน ทำได้แค่ไหน? ต้องตามดู

คงได้อ่านกันบ้างไม่มากก็น้อยไปแล้วนะครับ สำหรับนโยบายของ “รัฐบาลแพทองธาร” ที่จะเข้าสู่การแถลงแก่รัฐสภาในวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน และวันศุกร์ที่ 13 กันยายน ตามที่ท่านประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ออกหนังสือเชิญประชุมไปยังสมาชิกรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผมก็หวังว่าทั้งการแถลงและการอภิปรายซักถาม ตลอดจนการชี้แจงเพิ่มเติมของคณะรัฐบาลน่าจะอยู่ในกรอบเวลา เพื่อให้รัฐบาลชุดนี้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะดำเนินการต่างๆ ได้ นับแต่การอภิปรายในรัฐสภาจบลง

จะได้ลงมือทำงานแก้ปัญหาของประเทศที่ท้าทายตามความสามารถทั้งของรัฐบาลและประชาชน ให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ต้องขอขอบคุณทีมงานของฝ่ายรัฐบาลด้วยครับที่ดำเนินการทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ตัวร่าง “นโยบาย” ที่สามารถ ร่างได้แล้วเสร็จ และแจกจ่ายไปยังทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย

รวมทั้งมีการเผยแพร่มาลงสื่อต่างๆ ด้วย ทำให้ผมพลอยมีโอกาสได้อ่านร่างนโยบายของรัฐบาลท่านนายกฯอิ๊งค์ไปด้วยเช่นกัน

มีทั้งหมด 14 หน้า กับ 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะทำทันที และนโยบายไม่เร่งด่วนมากนักใช้ระยะเวลาปานกลาง หรือยาวบ้างนิดหน่อย ท่านก็เขียนบอกกล่าวไว้ด้วยว่า จะทำต่อไป

ก่อนที่จะมีนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ท่านนายกฯ อิ๊งค์กรุณาสรุปประเด็นปัญหาหลักๆ และหนักๆ ของประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้มาตั้งเป็นโจทย์ รวม 9 ประเด็นด้วยกัน

ตั้งแต่ปัญหารายได้รายจ่าย หนี้สินครัวเรือน ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ไปจนถึงปัญหา ความปลอดภัยของสังคมไทยที่ถูกคุกคามด้วยการแพร่ระบาดของยาเสพติด, ปัญหาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ทั้งในด้านความสามารถการผลิต การขาดแคลนนายทุน การอ่อนด้อยทางด้านเทคโนโลยี ฯลฯ

จากนั้นจึงประกาศนโยบายเร่งด่วนออกมา 10 ข้อ ล้อกับโจทย์ที่ตั้งไว้ว่าจะแก้อย่างไร จะทำอย่างไรกันต่อไป

บางเรื่องก็เขียนไว้กว้างๆ บางเรื่องบางอย่าง หรือบางโครงการก็ใช้คำเจาะจงแบบอ่านแล้วรู้ทันทีจะทำอะไร ดังเช่นในเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะบอกว่าทำโน่นทำนี่หลายอย่าง รวมทั้ง “สถานบันเทิงครบวงจร” หรือ Entertainment Complex ที่มีการเขียนวงเล็บภาษาอังกฤษไว้ด้วย

ส่วน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะไปอยู่ในส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีถ้อยคำเพิ่มเติม เช่น จะให้ความสำคัญแก่กลุ่มเปราะบาง รวมทั้ง จะผลักดันโครงการนี้ ซึ่งเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน และการประกอบอาชีพ

ข้อสรุปโดยสังเขปข้างต้นนี้ก็คือ “หนังตัวอย่าง” บางช่วงบางตอนของนโยบายที่รัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์ 1 จะแถลงต่อรัฐสภา ซึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นนโยบายที่ดี และตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของประเทศ

มีที่ผมคิดว่าไม่ดี และได้คัดค้านมาโดยตลอด และก็คงจะคัดค้านต่อไปเท่าที่จะคัดค้านได้ มีอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ 1.โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่แม้จะมีการปรับปรุงไปบ้างแล้วก็ตาม…และ 2.โครงการ สถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งนอกจากผมแล้วยังมีเสียงคัดค้านอีกจำนวนมาก

สรุปได้ว่าจากนโยบายที่มีการสรุปมาให้อ่านในหน้าหนังสือพิมพ์ถือว่าสอบผ่าน เขียนได้ดี เรียบเรียงได้กระชับ ตอบคำถามและโจทย์ของประเทศได้เป็นส่วนใหญ่ ในความเห็นของผม

แต่ก็อย่างโบราณเขาพูดไว้นั่นแหละว่า “การเขียน” ก็ดี “การพูด” ก็ดี ย่อมง่ายกว่าการ “ปฏิบัติ” หรือ “การกระทำ”… เพราะฉะนั้นก็คงต้องรอดูการปฏิบัติ หรือการกระทำโน่นแหละครับ ว่าจะเป็นไปตามที่แถลงไว้หรือไม่? เพียงใด?

“ซูม”

ร่าง “นโยบาย” สอบผ่าน ทำได้แค่ไหน? ต้องตามดู, รัฐบาล, อิ๊งค์ 1, การเมือง, โครงการดิจิทัลวอลเล็ต, สถานบันเทิงครบวงจร, การเมือง, ข่าว,​ ซูมซอกแซก