ข้อเขียนวันนี้ของผมยังคงเป็นข้อเขียนแห้งๆ ที่เขียนตุนไว้ล่วงหน้า เพราะจะต้องเดินทางไปร่วมในพิธีมอบรางวัล “โพธิคยานาคาธิบดี” ที่จังหวัดกระบี่ จากนั้นก็มีการสัมมนาต่อจึงต้องอยู่กระบี่อีกหลายวันดังที่เขียนเกริ่นให้ทราบไว้แล้ว
ทำให้ข้อเขียนวันนี้ยังคงเป็นข้อเขียนแห้งๆ ประเภทเขียนล่วงหน้า ไม่ทันเหตุการณ์บ้านเมืองเหมือนนั่งเขียนวันต่อวันอยู่ใน กทม.
เปิดดูปฏิทินพบว่า วันนี้ตรงกับ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งสำหรับการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินไทย
เพราะจะเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมลงมติตัดสินว่าท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะอยู่หรือไป ในกรณีที่มีการเสนอให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า กรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า “ผิด” ความเป็นนายกรัฐมนตรีของท่าน ก็จะสิ้นสุดลง แต่ถ้าตัดสินว่าไม่ผิด ท่านก็จะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป
ในฐานะคนที่เคยรักกันชอบกัน เพราะรู้จักกันมาก่อน ก่อนที่ท่านจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลายปี ดังที่ผมเคยเขียนกราบเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้ว
เมื่อท่านจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตเช่นนี้ ผมก็ขออนุญาตที่จะทำหน้าที่เขียนให้กำลังใจท่านล่วงหน้า อันเป็นธรรมเนียมที่คนรักกันชอบกันในประเทศไทยของเราพึงปฏิบัติต่อกัน
ในส่วนที่ผมไม่เห็นด้วยกับท่าน ผมก็ได้ทำหน้าที่แสดงให้ท่านเห็นแล้วว่าผมไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผมได้แสดงความเห็นมาตลอดว่าเป็นโครงการที่น่าห่วงใย…ทำแล้วโอกาสเสียมากกว่าได้
แต่เมื่อท่านชนะเพราะรัฐสภาเห็นด้วยกับท่านผ่านกฎหมายงบประมาณให้ท่านไปกู้เงินมาทำได้ผมก็ยอมท่าน ไม่ประท้วงไม่ตัดพ้อต่อว่าอะไรอีก นอกจากจะแอบภาวนาขออย่าให้สิ่งที่ผมและนักวิชาการค้านเอาไว้เป็นเรื่องจริงขึ้นมาก็แล้วกัน
สำหรับในเรื่องที่ผมเห็นว่าท่านทำถูก ผมก็เชียร์และให้กำลังใจเสมอ เช่นเรื่องนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบที่ท่านทำอยู่
หรือแม้แต่เรื่องที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านไปนอกบ่อย ไปเยี่ยมประชาชนบ่อย ไปเยี่ยมหน่วยราชการบ่อย จะเอาเวลาที่ไหนทำงาน หรือสั่งราชการอยู่ที่ทำเนียบล่ะ
ผมก็เป็นฝ่ายเชียร์ท่านว่า ทำอย่างนี้แหละถูกแล้ว เพราะหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี คือการขับเคลื่อนงาน มีงานใหญ่ที่จะต้องลงมือทำเองไม่กี่เรื่องหรอก นอกนั้น “เห็นชอบ มอบรองฯ” มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีทำแทนได้
ขณะเดียวกันในฐานะคนที่เคยอยู่ในระบบราชการมาก่อน ผมจึงเชื่ออยู่เสมอว่า การไม่เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีบ่อยๆจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนาประเทศ
เพราะจะเป็นที่เชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในและนอกประเทศ มากกว่าประเทศที่เปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแบบ 3 เดือนที 6 เดือนที หรือแม้แต่ 1 ปีทีก็ตาม
ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร ผมก็ยินดีน้อมรับดังได้กล่าวอยู่เสมอๆ ในการพิจารณาในทุกเรื่อง ทุกประเด็นที่มีการตัดสินไปแล้ว
แต่สำหรับกรณีนี้ผมขอลุ้นให้นายกฯ เศรษฐาได้อยู่ต่อครับด้วยเหตุผลหลายๆเหตุผลข้างต้น…เสร็จแล้ว หลังจากเวลาผ่านไปสักปีค่อยมาประเมินกันอีกที
ดีก็อยู่ต่อ ไม่ดีก็ไปได้เลย เพราะทำงานไปแล้ว 2 ปี ไม่มี มรรคผลใดๆ ก็สมควรแล้วครับที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง.
“ซูม”