มีข่าวเล็กๆ ในสื่อออนไลน์หลายสำนักเมื่อ 2 วันก่อน สรุปประเด็นของข่าวได้ว่ากำลังจะมีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นกับธุรกิจการท่องเที่ยวไทย
นั่นก็คือ ข่าวบริษัททุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ผ่านการจัดตั้งโดยใช้นอมินีเป็นคนไทย และเข้ามาทำการตลาดด้วยการขายทัวร์ตัดราคาต่ำสุดในประวัติศาสตร์
ต่ำกว่าทัวร์ศูนย์เหรียญที่เคยเป็นปัญหาในอดีตเสียด้วยซ้ำ เช่น ขายทัวร์ให้นักท่องเที่ยว ใช้ราคาห้องพักในโรงแรม 1,000-1,500 บาท เป็นต้น และเมื่อเข้ามาไทยแล้วก็จะมาบังคับขู่เข็ญให้ซื้อสินค้าหรือใช้จ่ายแบบช็อปปิ้งในจำนวนเงินที่กำหนดไว้ประมาณ 7 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท นำความเดือดร้อนมาสู่ผู้ประกอบการไทยอย่างหนัก
ผู้ที่ออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัททัวร์ต่างชาติที่ใช้คนไทยเป็นนอมินี และลงมือดำเนินการอยู่ในขณะนี้มิใช่ใครที่ไหน ได้แก่ นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว หรือ แอตต้า นั่นเอง…
ท่านย้ำกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว หวังว่าจะได้เห็นการแก้ไขอย่างจริงจังในเร็วๆ นี้
ผมอ่านข่าวเล็กๆ ข่าวนี้แล้วก็สะดุ้งขึ้นมาทันที นึกถึงภาพเก่ายุคกิจการท่องเที่ยวรุ่งเรืองมากก่อนโควิด-19 อาละวาด แต่ก็เกิดระบบการท่องเที่ยวแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ จากบริษัทท่องเที่ยวจีนที่นำนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา แล้วก็ฟันกันเอง โขกกันเอง เอาเงินกลับไปหมด ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์เพียงเศษๆ ที่พวกเขากินไม่หมดเท่านั้น
จริงๆ แล้วในท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เครื่องจักรตัวที่ยังทำงานอย่างขะมักเขม้นหารายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำแทบจะเหลือการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำไป
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็เพิ่งจะแถลงว่ามีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้านเราในรอบ 5 เดือนแรก เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้…อาจจะยังไม่ถึงเป้าสูงสุดในยุคก่อนโควิด-19 แต่ก็ฟื้นตัวขึ้นได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์
มิหนำซ้ำในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วง “โลว์ซีซัน” แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจำนวนที่น่าชื่นใจ ฯลฯ หลายๆ ท่านคงจะได้อ่านข่าวกันไปแล้ว
ผมเองก็เพิ่งไปเห็นด้วยตาตัวเองเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อหลานสาวหลานชายชั้นประถมของผมมาชักชวนผมไปเที่ยววัดพระเชตุพนฯ กับวัดอรุณราชวรารามฯ เพราะอยากจะไปดู ยักษ์วัดโพธิ์ กับ ยักษ์วัดแจ้ง ตามที่ครูเล่านิทานให้ฟังเมื่อสัปดาห์ก่อน
ระหว่างที่หลานๆ เขาแวะไปดูยักษ์ผมก็แวะเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แยกเข้าไปกราบ พระพุทธไสยาสน์ ณ พระวิหารที่อยู่ทางด้านท่าเตียน
พบว่ายังมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันอย่างหนาตา เดินไปเดินมาทั่วทั้งวัด และเข้าไปกราบนมัสการพระพุทธไสยาสน์เป็นจำนวนมาก
ครั้นเมื่อผมตามหลานๆ โดยนั่งเรือข้ามไปวัดอรุณฯ เพื่อจะไปดู ยักษ์วัดแจ้ง ต่อ ก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวข้ามฟากมาด้วยเต็มลำเรือ
พอไปถึงฝั่งขะโน้นคือฝั่งวัดอรุณฯ ผมยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก
เมื่อพบว่าที่บริเวณรอบๆ องค์ พระปรางค์ นั้น มีนักท่องเที่ยวแน่นไปหมด เดินกันยั้วเยี้ยทั้งในบริเวณพื้นราบ และไต่ขึ้นไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ตามมุมต่างๆ ของพระปรางค์
เหนืออื่นใด กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยว แต่งชุดไทย กันอย่างเต็มยศเลยครับ…ฝ่ายหญิงไม่ต้องพูดถึงเราเห็นภาพบ่อยๆ แต่ฝ่ายชายนี่ซีเล่นกับเขาด้วย แต่งชุดเจ้าพระยามหาอำมาตย์ โก้ อย่าบอกใครเชียว
ทำให้ร้านให้เช่าชุดไทยชุดละ 200 บาท รายได้ดีไปตามๆ กัน
ผมก็ได้แต่ยกมือประนมสักการะองค์พระปรางค์ไปด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบูรพกษัตริย์ไทยที่ทรงสร้างพระเจดีย์แห่งนี้และทรงบูรณะจนกลายเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่สูงเสียดฟ้า ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “สัญลักษณ์” หรือ “โลโก้” ของประเทศไทยและเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างมหัศจรรย์ที่ผู้คนทั้งโลกอยากจะมาถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก
ผมกลับจากวัดโพธิ์และวัดอรุณฯ ด้วยความชื่นใจและปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก นึกขอบใจเจ้าหลานทั้ง 2 ที่ชวนมาดูยักษ์ ทำให้เราได้มาเห็นภาพของ “เครื่องจักร” เครื่องสำคัญของประเทศไทยที่กำลังทำหน้าที่ “ปั๊ม” เงินให้แก่ประเทศไทย ผ่านธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยตาตนเอง
อย่าให้ “วายร้าย” ที่ไหนมาแอบ “ดูด” เงินที่นักท่องเที่ยวนำมาใช้จ่ายในบ้านเราไปเป็นของพวกมันเป็นอันขาดเชียวนะครับ… ฝากรัฐบาลไทยไว้ด้วยครับ.
“ซูม”