หากใครได้ติดตามวงการบันเทิงไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงรับรู้ถึงความนิยมของสื่อบันเทิงวาย ไม่ว่าจะเป็นนิยายวายที่กลายเป็นประเภทของหนังสือที่มีชั้นของตัวเองโดดเด่นในร้านหนังสือ
หรือซีรีส์วายที่สามารถหาดูได้ทางโทรทัศน์ทุกๆ วัน ความนิยมของสื่อบันเทิงวายยังข้ามมาถึงสื่อภาพยนตร์ ซึ่งมีทั้งการสร้างภาพยนตร์วายขึ้นมาใหม่ หรือการนำซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์มาตัดต่อให้เป็นฉบับฉายตามโรงภาพยนตร์
แม้ว่าอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงวายกำลังเฟื่องฟู จนกระทั่งถูกผู้มีอำนาจมองว่าจะเป็น “สินค้าวัฒนธรรม” หนึ่งของประเทศไทยที่จะส่งออกไปทั่วโลก แต่อีกด้านหนึ่ง สื่อบันเทิงวายก็ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหา
โดยเฉพาะการนำเสนอฉากวาบหวิว คุณภาพของเนื้องานที่ออกมา รวมไปถึงค่านิยมของสื่อบันเทิงที่เชิดชู “ผู้ชายหน้าตาดี” หรือการกีดกันความหลากหลายทางเพศออกจากเนื้อหา เป็นต้น
ในวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขอเชิญผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมเสวนาภาพยนตร์ “สำรวจปรากฏการณ์วาย” กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ได้แก่
อรรถ บุนนาค นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ JLIT และ รศ.นัทธนัย ประสานนาม จากภาควิชาวรรณคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะมาร่วมเสวนาถึงปรากฏการณ์สื่อบันเทิงวายที่เราได้เห็นในทุกวันนี้
ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ “วาย” คุณลักษณะหรือไวยากรณ์เฉพาะของสื่อบันเทิงวาย พัฒนาการของสื่อบันเทิงวายในประเทศไทย กระแสความนิยมของสื่อวาย ผลกระทบของสื่อวายที่มีต่อสังคม กระแสฐานแฟนคลับของนักแสดงวาย เปรียบเทียบสื่อวายของไทยกับของประเทศอื่นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อวายกับประเด็นการเชิดชูความหลากหลายทางเพศ
และทิศทางของสื่อวายในอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ เปิดงานด้วยการฉายภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม (2550) หนังไทยที่เป็นเสมือนใบเบิกทางให้แก่การมาถึงของซีรีส์วาย ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
สำรองที่นั่งได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/view/2697