เมื่อวันพุธที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง องค์การยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาซอน สาธารณรัฐบอตสวานา ในทวีปแอฟริกา
ก่อนหน้านี้มีข่าวระแคะระคายเล็ดลอดออกมาก่อนแล้วว่า เรื่องนี้จะเข้าที่ประชุมและจากการสุ่มซาวเสียงกรรมการบางส่วน คาดว่าน่าจะได้คะแนนรับรองเกินพอ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ยินเสียงระฆังยกสุดท้าย คือมีการประชุมและมีการลงมติอย่างเด่นชัด อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
ผมจึงพลอยลุ้นไปกับเขาด้วย และส่งเสียงเฮ! ออกมาดังๆ หน้าเครื่องคอมที่บ้าน เมื่อมีการรายงานข่าวด่วนว่า ที่ประชุมมีมติยอมรับสงกรานต์ไทยเป็นที่เรียบร้อย
โดยมีการโพสต์ข่าวด่วนจี๋ในเพจของ UNESCO แบบ “เบรกกิ้งนิวส์” มีข้อความสั้นๆ ว่า “News inscription on the # Intangible Heritage List : Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year festival #Thailand” (พร้อมรูปธงชาติไทยผืนเล็กๆ แต่โดดเด่นเป็นสง่าเหลือเกิน) ตามมาด้วยคำว่า Congratulations แสดงความยินดีกับประเทศไทย
เป็นที่ทราบดีแล้วว่าก่อนหน้านี้ยูเนสโกก็มีการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ภูมิปัญญา เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยมาก่อนแล้ว 2-3 ประการด้วยกัน …ได้แก่ “โขน” เมื่อ พ.ศ.2561, “นวดไทย” เมื่อ พ.ศ.2562, “โนรา” เมื่อ 2564 และปีนี้ก่อนจะสิ้นปี 2566 ก็ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์” ถือเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่สำหรับคนไทย
มีหลายๆ คนบอกว่า “เข้าทาง” คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์ พาวเวอร์แห่งชาติที่มีนายกฯ เศรษฐาเป็นประธาน และคุณอุ๊งอิ๊งเป็นรองประธานพอดี เพราะเธอกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการจะจัด “เทศกาลสงกรานต์” ในประเทศไทยตลอดเดือนเมษายนในปีที่จะมาถึงนี้
มีทั้งเสียงวิจารณ์เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง ตามโซเชียลต่างๆ และใช้ถ้อยคำหนักบ้าง เบาบ้างตามสไตล์การวิจารณ์ของคนไทยรุ่นใหม่ ที่ชอบใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมากกว่ายุคพวกผม ที่ถูกสอนให้วิจารณ์แบบหนักแน่นในเนื้อหาและความคิด โดยใช้ถ้อยคำสุภาพ
ผมก็หวังว่าคุณอุ๊งอิ๊ง ซึ่งก็ถือเป็นคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน จะทนฟังคำวิจารณ์แรงๆ ได้และเก็บข้อคิดที่ดีๆ ไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้โครงการ “เทศกาลสงกรานต์” เพื่อการท่องเที่ยวในปีหน้าออกมาอย่างสมเหตุสมผล
โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยแปลกใจกับการเล่นสงกรานต์เป็นเดือน เพราะในชีวิตเคยเล่นติดต่อกันเป็นครึ่งเดือนมาแล้ว
สมัยผมเป็นหนุ่มรุ่นกระทง อายุ 19-20 เป็นนักศึกษาปีหนึ่ง จำได้ว่าตอนปิดเทอมใหญ่เดือนเมษายน จะกลับไปเล่นสงกรานต์ที่บ้านอำเภอบรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ แทบทุกปี
สงกรานต์ที่นั่นเขาจะจัด “สรงนํ้าพระ” ที่แต่ละวัดไล่เรียงกันไปตั้งแต่ วัดส้มเสี้ยว, วัดตั้วเกา, วัดเจริญผล, วัดตาสังข์ใต้, วัดตาสังข์เหนือ, วัดบ้านแดน ไปจนถึง วัดบางแก้ว ที่อยู่ทิศเหนือ
ย้อนลงมาด้านทิศใต้ก็จะมี วัดบางตาหงาย, วัดหัวดง, วัดหูกวาง ไปจนถึง วัดเก้าเลี้ยว ฯลฯ นี่เท่าที่นึกออกก็สิบกว่าวัด ได้เล่นสงกรานต์กันกว่า 10 วันเข้าไปแล้ว เพราะแต่ละวัดพยายามจะจัดไม่ซํ้ากัน
ด้วยโมเดลนี้ หากคณะกรรมการของคุณอุ๊งอิ๊งจะจัดเป็นรายจังหวัดไปเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เพียงแต่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันตรึกตรอง หรือทำแบบสำรวจเสียก่อนว่า ผู้คนจะเบื่อไหม? จะเว่อร์ไปไหม? กี่วันถึงจะพอดี? เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุด
สรุปว่าโครงการนี้ผมไม่ค้านพรรคเพื่อไทยครับ เพราะยังติดตามข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอยู่เสมอ รู้ว่าโลกยังไม่ฟื้นอย่างที่คิด การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศอาจจะยังเป็นปัญหาในปีหน้า
ทางใดที่จะหาเงินเข้าประเทศได้มากๆ และไม่ยากนักอย่างการท่องเที่ยวจึงต้องเน้นเป็นนโยบายหลักต่อไป
ผมจึงไม่ค้านโครงการนี้แต่ยังจะค้านโครงการ “แจกเงินดิจิทัล” อยู่ วันใดที่โครงการแจกเงินเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะตอนเข้าสภาผมคงต้องออกมาค้านแน่นอนตามสไตล์คนรุ่นผมที่จะค้านอย่างหนักแน่นแต่สุภาพอย่างที่กล่าวไว้
สำหรับวันนี้ขอแสดงความยินดีแก่พี่น้องประชาชนชาวไทย รวมทั้งตัวผมเองด้วย สำหรับการยอมรับ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลก โดยยูเนสโกเห็นด้วยที่เราจะใช้ “สงกรานต์” ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมต่อไปครับ.
“ซูม”