เงินสะพัด “กินเจ” ปีนี้โลด กูรูฟันธง “สูงสุด” ใน 10 ปี

หลายๆ ปีมานี้ผมจะมีข่าวผลการสำรวจเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลกินเจมาฝากท่านผู้อ่านอย่างน้อย 1 ข่าวเสมอๆ โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ทำการสำรวจแบบเกาะติดเทศกาลกินเจมานานกว่า 10 ปี

สำหรับเทศกาลกินเจปีนี้ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม ถึงวันที่ 23 ตุลาคมนั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจออกมาแล้วตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อน อ่านพาดหัวข่าวแล้วก็ดีใจ เมื่อท่านพยากรณ์ว่า เงินสะพัดกินเจจะคึกคักสูงสุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของมหาวิทยาลัย เปิดผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ 2566 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,280 ตัวอย่าง คาดว่าบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยคึกคักมาก เพราะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว จะเป็นผลให้ประชาชนซื้อของเพิ่มขึ้นถึง 37.7 เปอร์เซ็นต์

เทียบกับปีกลายที่เพิ่ม 11.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ยอดค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนคาดว่าจะเพิ่มเฉลี่ยคนละ 4,587 บาท สูงสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

ส่วนเงินสะพัดนั้น ท่านคาดว่าจะสูงถึง 44,558 ล้านบาท ขยาย 5.5 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2557

ผมอ่านไปก็ส่งเสียงเฮอย่างถูกใจเหมือนเชียร์ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยไป พร้อมกับภาวนาขอให้การทำนายของอาจารย์และคณะถูกต้อง

แต่ก็มีผลสำรวจบางประการที่แสดงว่า ราคาอาหารเจปีนี้อาจจะแพงขึ้น เพราะมีคนตอบคำถามของท่านว่าจะแพงขึ้นถึง 57 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตอบว่าจะลดลง และก็มีประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าจะคงเดิมไม่เพิ่มไม่ลด

นอกจากถามผู้บริโภคแล้ว หอการค้าไทยยังไปถามร้านค้าอาหารเจด้วย ประมาณ 650 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ถึง 72 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า แพงขึ้นแน่นอน มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่าถูกลง

มีข้อสังเกตสำคัญยิ่งอยู่ข้อหนึ่งจากผลการสำรวจในปีนี้ก็คือ ในเทศกาลกินเจปี 2566 นี้ พฤติกรรมของคนกินเจส่วนใหญ่จะซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์ม “ดีลิเวอรี” คือสั่งซื้อมากขึ้นถึง 81 เปอร์เซ็นต์ และจะไปซื้อด้วยตนเองเพียง 19.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นี่ก็ไม่น่าจะผิด เพราะเป็นพฤติกรรมใหม่ของคนไทยยุคปัจจุบัน

ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มีการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนชาวไทย ในช่วงเทศกาลต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีฐานข้อมูลที่สามารถนำมาใช้คาดคะเนหรือพยากรณ์การขยายตัวหรือหดตัวทางเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร

ผมเคยเขียนเล่าไว้แล้วว่า ตัวผมเองค่อนข้างหลอนกับการสำรวจของหน่วยราชการไทย เพราะเคยเจอกับรายการ “ยกเมฆ” อย่างมโหฬารในอดีต แม้กาลเวลาจะผ่านไปแต่ความหลอนก็ยังคงอยู่

ส่วนของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผมพบว่าพยากรณ์ค่อนข้างถูกต้องในหลายๆปีที่ผ่านมา แม้ผมจะยังคงระมัดระวังในการใช้อันเป็นปกติวิสัยของผม แต่ก็บอกได้เลยว่า จะระวัง “น้อยลง” บ้างระดับหนึ่ง เมื่อใช้ตัวเลขของหอการค้าไทย

นอกจากขอบคุณมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในการจัดทำตัวเลขช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ผมต้องขอขอบคุณ “กระแสการกินเจ” ที่เกิดขึ้นในช่วง 15-16 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็น “วาระแห่งชาติ” กินเจกันไปทั้งเมือง หรือพูดจาเกี่ยวกับเรื่องเจไปทั้งเมืองมาจนถึงบัดนี้

ที่สำคัญต้องขอขอบคุณพี่น้อง “ชาวภูเก็ต” พี่น้อง “ชาวตรัง” และชาวใต้อีกหลายจังหวัด ที่รักษาประเพณีนี้ไว้อย่างต่อเนื่องเป็นร้อยๆ ปี

แรกๆก็ฮิตเฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้นก่อน แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสื่อสารทันสมัย มีการเผยแพร่ข่าวและภาพกินเจอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

ในที่สุดก็เกิดภาพติดธงธรรมะสีเหลืองอร่ามขึ้นทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะตามตลาดสดต่างๆ กลายเป็นกระแสยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ ในชั่วพริบตา

ขอให้คำทำนายของหอการค้าไทยถูกต้องด้วยเถอะ 2—3 วันมานี้มีเรื่องร้ายๆ ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเข้ามาบั่นทอนเศรษฐกิจไทยอยู่หลายเรื่อง ได้เทศกาลกินเจมาช่วยเศรษฐกิจไทยจะได้ฟื้นกลับมาตามเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ไงล่ะครับ.

“ซูม”