เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมเขียนถึงนโยบายของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ในแบบรวมๆ…พร้อมกับยกตัวอย่างนโยบายที่ผมค่อนข้างห่วงใยเอาไว้โครงการหนึ่ง
นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นั่นแหละครับ
วันนี้ซึ่งการอภิปรายเริ่มขึ้นแล้ว แต่ต้นฉบับของผมจะตีพิมพ์ในไทยรัฐฉบับล่วงหน้า และเช้าตรู่ในวันอภิปรายพอดี น่าจะยังทันเหตุการณ์อยู่
ประเด็นที่ผมห่วงใยมากที่สุด ก็คือประเด็นที่รัฐบาลอาจจะต้องใช้เงินถึง 5 แสนล้านบาท รวมกันทั้งหมดเพื่อแจกประชาชนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปนั่นแหละครับ
รัฐบาลจะใช้เงินก้อนไหนหนอ? จะหามาจากไหนหนอ? จะกระทบต่อฐานะการคลังหรือไม่หนอ…ณ นาทีนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน
แต่ไม่ว่าอย่างไร นโยบายข้อนี้ คงต้องมีการปฏิบัติแน่ๆ เพราะทุกวันนี้ไม่ว่านายกฯ เศรษฐาจะเดินทางไปไหน ก็จะมีแต่คนถามท่านว่าจะได้รับเงิน 10,000 บาท เมื่อไร?
ซึ่งท่านนายกฯ ก็ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “1 ก.พ.” ที่จะถึงนี้ “ดีเดย์” หรือ “แจก” แน่นอน
สำหรับผมเองนั้น ไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายและมาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และเขียนบ่นกระปอดกระแปดมาหลายหน
เพราะไปมุ่งแต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว เอาให้ฟื้นท่าเดียว โดยไม่คำนึงถึงการสูญเสียหลักการของการ “พัฒนามนุษย์” อย่างถูกทำนองคลองธรรม ที่นักสังคมศาสตร์เคยแนะนำไว้
คงจำได้ที่มีคำสอนว่า วิธีช่วยเหลือคนนั้น อย่าเอาของไปแจกให้เขาเฉยๆ แต่ต้องสอนให้เขารู้จักผลิตรู้จักทำสิ่งของนั้นด้วย เขาจะได้มีความรู้มีวิชาติดตัวสามารถผลิตสิ่งของหรือหาสิ่งของมารับประทานหรือมาใช้ได้ตลอดชีวิต
พร้อมกับการยกตัวอย่างที่คลาสสิกคือ อย่าคิดแต่จะแจก “ปลา” ให้ประชาชนอย่างเดียว ต้องสอนให้เขารู้จักวิธี “ตกปลา” หรือ “เลี้ยงปลา” ควบคู่ไปด้วย
ซึ่งในการแจกสมัยก่อนจะคล้ายๆ กับคำสอนนี้คือ จะคิดโครงการขึ้นมาก่อน แล้วก็จ้างคนมาทำ เพื่อให้เขามีงานทำ และรู้วิธีทำงานควบคู่ไปด้วย
ขณะเดียวกันก็จะมี “ผลงาน” เช่น ถนนหนทาง หรือเขื่อนคูต่างๆ ไว้ใช้งานในภายหลัง
ต่อมาก็มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่กว่ามาบอกว่า วิธีกระตุ้นแบบที่ว่านี้มันชักช้าไม่ทันใจ…สู้แจกตรงๆ ให้เขาไปใช้จ่ายไปบริโภคทันทีทันใดเลยไม่ได้ จะกระตุ้นได้เร็วกว่า
จึงเกิดวิธีแจกตรงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ นิยมกันมาก
ในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หลังเกิดโควิดระบาดรอบแรกใช้วิธีแจกเงินให้ประชาชน ทั้งส่งเป็นเช็คและส่งเข้าบัญชีโดยตรง
มายุคประธานาธิบดี ไบเดน ก็มีข่าวว่าแจกต่ออีกถึง 2 รอบ โดยแจกเช็คคนละ 1,400 เหรียญ หรือประมาณ 42,000 บาท ในขณะนั้นไปเข้าบัญชีประชาชน
ที่เมืองจีนก็ทำเหมือนกัน เมื่อปีที่แล้วนี่เอง มีการแจก “เงินหยวนดิจิทัล” ผ่านแอป “วอลเล็ต” ที่เขาคิดค้นขึ้นและมีรายงานว่าได้ผลเร็วกว่า ที่อเมริกาเยอะ เพราะประชาชนได้ทันทีใช้ทันที
ในขณะที่ของอเมริกามีรายงานว่า ประชาชนที่ได้รับเช็คจำนวนมากยังไม่รู้ตัวว่าได้รับเช็ค และยังไม่มีการใช้จ่ายแม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปแล้ว
เมื่อทฤษฎีการแจกเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นนี้ และทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ ขนาดแจกเป็นเช็คหรือส่งเงินไปเข้าบัญชีประชาชนอย่างของสหรัฐฯ ยังล้าสมัย สู้ของจีนไม่ได้ เพราะแจกผ่านระบบออนไลน์ผ่านมือถือทันสมัยสุดๆ
นักเศรษฐศาสตร์ตกรุ่นอย่างผมแม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยแต่ก็ต้องยอมจำนนด้วยความจนใจ และหวังว่าจะได้คำตอบอย่างชัดเจนในการแถลงนโยบาย (วันนี้พรุ่งนี้) นะครับว่า เงินที่รัฐบาลไทยจะแจกนั้นจะมาจากหนใด? และภาระการคลังในอนาคตจะเป็นเช่นไร?
จะมัวอ้ำอึ้งไม่ตอบชัดเจนไม่ได้นะครับ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ระบุไว้ชัดเจนว่า “จะต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายด้วย” ไม่เชื่อลองไปอ่านดูซีครับ
ผมจะรอฟังคำตอบนะครับท่านนายกฯ และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกัน.
“ซูม”