นโยบาย “เศรษฐา 1” เขียน “ครบ” แต่จะจบกี่% ?

ผมนั่งอ่านร่างนโยบาย “รัฐบาลเศรษฐา 1” ที่มีการพิมพ์เผยแพร่อยู่ในขณะนี้ ก่อนที่ท่านจะไปแถลง ณ รัฐสภาในวันจันทร์ที่ 11 กันยายนไปสัก 2 เที่ยวแล้วกระมัง

ประสานักเรียนเศรษฐศาสตร์เก่าที่ยังชอบอ่านรายงานทางวิชาการ อ่านบทความโน่นนี่ รวมทั้งถ้ามีเวลาว่างก็จะนั่งอ่านตำรับตำราเล่มใหม่ๆ ที่มีการพิมพ์ใหม่ทยอยออกมาสู่ท้องตลาดอยู่เสมอๆ ผมขอแสดงความชื่นชมคณะทำงาน “ยกร่าง” ไว้ ณ ที่นี้ก่อนอะไรทั้งหมด

เหตุเพราะได้สรุปปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศไปจนถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกเอาไว้อย่างครบถ้วน

มีตัวเลขอ้างอิงในบางเรื่องแต่พองามไม่มากไปไม่น้อยไป

ที่สำคัญไม่เพียงแต่สรุปให้เห็นถึงสารพันปัญหาเท่านั้นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่และจะเผชิญในโอกาสต่อไป ยังชี้ช่องที่เป็นทางออกของประเทศควบคู่ไปด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้จะใช้ความพยายามในการดำเนินงาน

แบ่งออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้เห็นชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้างเป็นขั้นเป็นตอนไปตามความหนักเบาของสถานการณ์

เริ่มด้วยระยะสั้นหรือระยะเฉพาะหน้า ประเภท “ทำทันที” อันได้แก่การกระตุ้นการใช้จ่ายที่ท่านนายกฯเศรษฐา ท่านใช้ถ้อยคำในร่างนโยบายว่า “เพื่อจุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง”

ได้แก่ “นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ซึ่งเป็นนโยบายเอกของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

สำนวนการเขียนบรรยายสรรพคุณของมาตรการนี้ ก็เว้าแบบซื่อๆ ง่ายๆ อ่านปุ๊บเข้าใจปั๊บทันที เช่น “มาตรการนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจของประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง–เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก”

“เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุนขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ และรัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี”

ใช้สำนวนง่ายๆ อ่านปุ๊บรู้ทันทีว่าท่านจะทำอะไร และคาดว่า จะเกิดผลอย่างไร?

แม้ในใจผมจะยังมีข้อกังขามากมาย และไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีแจกแหลก อันเป็นที่นิยมของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกในปัจจุบันนี้

แต่จะทำอย่างไรได้เพราะทฤษฎีกระตุ้นเศรษฐกิจยุคใหม่เขาทำกันอย่างนี้จริงๆ แม้แต่ที่สหรัฐฯเจ้าตำรับเศรษฐกิจเสรีก็ทำหลายครั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากเนื้อที่ของผมมีจำกัด ขอยกตัวอย่างนโยบายเดียวก็แล้วกัน…ในส่วนอื่นๆที่เหลือกรุณาไปค้นหาอ่านกันเองนะครับ เข้า กูเกิล แล้วพิมพ์คำว่า “นโยบายเศรษฐา 1” ก็จะมีรายละเอียดจากเว็บไซต์ต่างๆ มาให้เราเลือกอ่านยาวเหยียดไปหมด

คำถามก็คือ ทำอย่างไรเราจะให้ความฝันอันสวยงาม หรือมาตรการต่างๆ ที่ว่าดีว่างามเหล่านี้ เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้

เท่าที่ผมเคยมีโอกาสเรียนรู้จากนักเขียนนโยบายระดับชาติในอดีตหลายๆ ท่าน จำได้ว่าท่านเหล่านี้มักจะตั้งศูนย์ ปฏิบัติการ อย่างเป็นทางการบ้าง ไม่เป็นทางการบ้าง สำหรับติดตามประเมินผลและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่เขียนไว้อยู่ตลอด

ทำอะไรไปแล้วบ้าง? ทำได้แค่ไหน? ปัญหาอุปสรรคคืออะไร? อะไรยังไม่ทำ? ทำไมถึงไม่ทำ? จะทำเมื่อไร? ฯลฯ สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลสัมฤทธิ์ในหลายๆ นโยบาย

ผมก็ขอเสนอว่า น่าจะมีศูนย์อะไรสักศูนย์ ที่จะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ก็ได้คอยจี้คอยไชคอยเร่งคอยรัด หรือแม้แต่คอยชะลอในบางเรื่องตามความเหมาะสม

เพื่อตอบคำถามที่ผมพาดหัวถามไว้ว่า “เขียนไว้ครบ แต่จะจบสักกี่เปอร์เซ็นต์” ? นั่นเอง

ผมขอให้กำลังใจและขอให้ทำเต็มที่ ให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ และเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ผมไม่ขอมาก…ขอให้จบแค่ 60 เปอร์เซ็นต์เท่ากับ “เกรด” สอบผ่านของชั้นปริญญาตรียุคก่อนก็พอใจแล้วครับ สำหรับท่านนายกฯ ป้ายแดง!

“ซูม”

นโยบาย “เศรษฐา 1” เขียน “ครบ” แต่จะจบกี่% ?, การเมือง, นายกรัฐมนตรี, ร่างนโยบาย, รัฐบาลเศรษฐา 1, เศรษฐกิจ, ภาษี, ข่าว, ซูมซอกแซก