ชื่นชมโครงการ “ติวทั่วไทย” ช่วยสานฝัน “เด็ก” ภูมิภาค

การเมืองไทยจะลงเอยอย่างไร? ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่? ตามกำหนดการน่าจะรู้ผลในวันนี้ แต่ก็มีข่าวอื้ออึง กึ่งสับสนว่ายังไม่ลงตัวนัก คงต้องลุ้นต่อไปว่าจะมีการประชุมรัฐสภาในเรื่องนี้หรือไม่ อย่าลืมชำเลืองดูข่าวหน้า 1 กันด้วยนะครับ

เรามาให้ความสำคัญแก่ข่าวเล็กๆ ข่าวนี้ดีกว่า เป็นข่าวเชิงประชาสัมพันธ์ที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์ต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างยิ่งยวด

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นประเทศไทยจะต้องเดินหน้าต่อไป? คนไทยยังจะต้องทำงานตามหน้าที่ตามภารกิจของตนต่อไป

รวมทั้งเด็กไทยก็ควรจะตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือและเตรียมตัวสอบโน่นสอบนี่ต่อไป…เพราะอนาคตของลูกๆ หลานๆ จะอยู่ที่การเรียนการสอบ เพื่อให้มีโอกาสเรียนต่อเรียนจบมีความรู้ออกไปทำงาน…นี่แหละครับของจริงในชีวิตจริง

พอดีผมอ่านข่าวเจอเมื่อวานนี้เองว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) พร้อมด้วยพันธมิตรจำนวนหนึ่งจะจัดโครงการ “ติวทั่วไทย พิชิตมหา’ลัยในฝัน” ตะลุยติว A-LEVEL ที่ศูนย์การค้าและหอประชุมรวม 15 แห่งทั่วประเทศ

องค์กรดังๆ ที่มาร่วมสนับสนุนด้วย ได้แก่ หอการค้าไทย, หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา, บริษัทเซ็นทรัล รีเทล, ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์, ธนาคารออมสิน และสำนักงานสลากกินแบ่ง ฯลฯ

ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยติวช่วยสานฝันให้แก่เด็กนักเรียนมัธยมต่างจังหวัด ซึ่งเสียเปรียบเด็กกรุงในเรื่องนี้เพื่อให้เด็กภูธรมีโอกาสติดอาวุธทางปัญญา เพื่อความเท่าเทียมกันในการเดินเข้าสู่ประตูมหาวิทยาลัย

ในเนื้อข่าวบอกด้วยว่าโครงการในลักษณะนี้ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมา 10 กว่าปีแล้ว สำหรับปีนี้จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงธันวาคม รวม 15 จังหวัดด้วยกัน

ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ผมคงไม่สามารถลงรายละเอียดว่าจะจัดที่จังหวัดใดบ้าง สถานที่ใดบ้าง…ขอยกตัวอย่างจังหวัดแรกจังหวัดเดียว จะจัดในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคมนี้ ที่จังหวัด ลำปาง ใช้ห้องประชุมของโรงเรียนบุญวาทย์ฯ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือคลิกไปที่ https://tutor.utcc.ac.th หารายละเอียดเพิ่มเติมกันเอาเองนะครับ

เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ชิ้นนี้แล้วก็นึกถึงข้อเขียนเมื่อ พ.ศ.2516 หรือ 50 ปีก่อนโน้น หลังผมมาอยู่ไทยรัฐได้ 3 เดือนเศษ

ได้รับจดหมายข่าวแจ้งกำหนดการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ผมเคยเรียนก็เอามาลงให้ พร้อมกับหยอดข้อความเล่าประสบการณ์ถึงกลยุทธ์ในการสอบเข้าเตรียมยุคนั้นว่าควรไปกวดวิชาที่ไหนอย่างไร กลายเป็นข้อเขียนฮือฮาขึ้นมาทันที

ผมก็เลยไปขอข้อมูลจากโรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งโรงเรียนอาชีวะทั้งหลายมาเขียนชุด “จะเรียนอะไรดี” แนะแนวการเรียนแก่เด็กๆ

กลายเป็นข้อเขียนถ้าเป็นสมัยนี้คงต้องเรียกว่า “ไวรัล” เด็กๆ และพ่อแม่ผู้ปกครองโดยเฉพาะต่างจังหวัดเข้ามาเปิดไทยรัฐอ่านกันยกใหญ่ เพราะยุคนั้นคนไทยส่วนใหญ่รวมถึงเด็กไทยส่วนใหญ่แทบไม่มีความรู้เรื่อง “แนะแนว” กันเลย

หลายสิบปีผ่านมาผมมีโอกาสได้พบกับบุคคลที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของประเทศไทย ท่านบอกผมว่า วันที่ท่านกระโดดขึ้นรถ บขส. จากต่างจังหวัดมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ นั้น…ท่านตัดคอลัมน์ชุดแนะแนว ของผมใส่กระเป๋าเดินทางติดตัวมาด้วยเลย

ผมฟังแล้วแม้จะเขินแต่ก็ปลื้มใจที่ข้อเขียนของเรามีส่วนร่วมเล็กๆ ในการเป็นคู่มือเดินทางสู่อนาคตของบุคคลระดับทรัพยากรสำคัญของประเทศท่านดังกล่าว

เชื่อผมเถอะครับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) และพันธมิตร ของโครงการ “ติวทั่วไทย พิชิตมหา’ลัยในฝัน” ทั้งหลาย

ท่านจะมีความสุขมากๆ อย่างแน่นอนในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อ มีคนมาบอกกับท่านว่า เพราะโครงการติวที่พิษณุโลก ที่ขอนแก่น ที่สงขลา ฯลฯ ของท่านแท้ๆ ที่ทำให้ “เขา” และ “เธอ” ผู้เข้าติวหลายๆ คน สามารถเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของสังคมไทยในที่สุด

ขอบคุณอีกครั้งครับสำหรับโครงการดีๆ เพื่อเด็กไทยในภูธร ทุกภูมิภาคโครงการนี้.

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

ชื่นชมโครงการ "ติวทั่วไทย" ช่วยสานฝัน "เด็ก" ภูมิภาค, สอบเข้า, มหาวิทยาลัย, แนะแนว, ไวรัล, โรงเรียน, ข่าว,​ซูมซอกแซก