ในห้องพระของผมมีพระพุทธรูปบูชาขนาดกลางๆ สูงประมาณ 11-12 นิ้วอยู่องค์หนึ่ง น่าจะได้มาจากกัลยาณมิตรคนใดคนหนึ่งของผมที่เดินทางไปพุทธคยาประเทศอินเดีย แล้ว “เช่า” จากพระมหาเจดีย์พุทธคยามาฝากผม น่าจะกว่า 10 ปีมาแล้ว
พระบูชาจากพุทธคยาองค์นี้จำลองมาจากพระประธาน ณ มหาเจดีย์พุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ซึ่งพุทธศาสนิกชนนิยมเรียกว่า “พระพุทธเมตตา”
เหตุที่เรียกเช่นนั้นก็ด้วยพระพักตร์ของพระพุทธรูปเปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยนเมตตากรุณา เมื่อก้มลงกราบแล้วเงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์จะเห็นความอ่อนโยนและความเมตตาเปล่งประกายออกมาจนเราเกิดความรู้สึกปีติอย่างบอกไม่ถูก
ผมเคยไปกราบองค์จริงที่พระมหาเจดีย์พุทธคยามาแล้วในการเดินทางตามรอยบาทพระศาสดา กราบสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ณ ประเทศอินเดียและเนปาล โดยความกรุณาของ คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ที่นำพนักงานอาวุโส ไทยรัฐ ไปเยือนเมื่อหลายปีก่อนโน้น
รับทราบกิตติศัพท์ของพระพุทธเมตตามาก่อนแล้วจึงรู้สึกปีติยินดีที่มีผู้นำมามอบให้และผมก็นำขึ้นหิ้งบูชาร่วมกับพระพุทธรูปอีกหลายๆ องค์ที่ผู้หลักผู้ใหญ่กรุณามอบให้ในโอกาสต่างๆ
ตามประวัติที่จารึกไว้ที่พุทธคยาระบุว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีอายุกว่า 1,400 ปี และประดิษฐาน ณ พระเจดีย์พุทธคยามาโดยตลอด
เป็นพระรูปปางมารวิชัย หรือ “ปางชนะมาร” อันเป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้แล้วก็มีพญามารมารบกวนขัดขวางแต่พระองค์ท่านก็สามารถเอาชนะพญามารได้ในที่สุด
ตามตำนานที่บอกเล่ากันอย่างยาวนานนั้นระบุว่า มหากษัตริย์ชมพูทวีปในอดีตองค์หนึ่งที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้เสด็จมา ณ พุทธคยาลงมือทำลาย ต้นโพธิ์ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ด้วยองค์เอง
แต่ไม่สามารถลงมือทำลายพระพุทธรูปองค์นี้ได้ เพราะเมื่อไปยืนอยู่หน้าองค์พระได้เห็นพระพักตร์อันเปี่ยมไปด้วยเมตตาก็ทำลายไม่ลง
กระนั้นก็มิได้เลิกรา หันไปสั่งให้ทหารผู้หนึ่งเป็นผู้ทำลายแทน
ทหารผู้นั้นก็ทำลายไม่ลงอีก แต่ด้วยความเกรงกลัวพระราชอาญาจึงปิดประตูทางเข้าและก่ออิฐปูนอย่างแน่นหนา พร้อมกลับไปกราบทูลพระราชาของตนว่าได้ทำลายเรียบร้อยแล้ว
พระราชาแทนที่จะดีพระทัย กลับรู้สึกหวาดกลัวในอกุศลกรรมต่างๆ ที่ก่อไว้ตั้งแต่ทำลายต้นโพธิ์มาจนถึงคิดร้ายต่อองค์พระเมตตา ภายหลังต่อมาได้ล้มป่วยลง พระวรกายเน่าเปื่อยเป็นชิ้นๆ สิ้นพระชนม์ไปในที่สุด
นายทหารคนดังกล่าวก็กลับไปรื้อประตูอิฐที่สร้างบดบังไว้ แล้วจุดตะเกียงนํ้ามันบูชา และจากนั้นมาก็ไม่มีผู้ใดรังแกพระพุทธรูปนี้อีก จึงอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงวันนี้
ทุกครั้งที่ผมบูชาพระพุทธรูปจำลององค์นี้ก็จะนึกถึงคำสอนเรื่อง “พรหมวิหาร 4” ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแก่พวกเราพุทธศาสนิกชนให้ยึดถือ ยึดมั่นอยู่เสมอๆ เพื่อเป็นหลักในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
นั่นก็คือ หลักธรรม 4 ประการ อันได้แก่ เมตตา, กรุณา, มุทิตา และ อุเบกขา ที่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายเป็นอย่างดีแล้วทุกข้อ
ช่วงนี้ประเทศไทยเราเหมือนมีมารมาผจญ ทำให้เกิดการแตกแยกทางความคิดอย่างใหญ่หลวงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เพราะเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งหยิบยกมาเป็นสาเหตุแห่งความแตกแยกนั้น ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และสามารถที่จะทำให้บุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรักและหวงแหนในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังลบหลู่ เกิดความโกรธแค้น ถึงขั้นลุกขึ้นมาปะทะกันได้
ผมเองอยู่ในกลุ่มของผู้ที่รักและหวงแหนในสิ่งที่คนอีกกลุ่มหนึ่งจาบจ้วง และบ่อยครั้งก็เกิดความโกรธหุนหันพลันแล่นจนอยากจะเขียนยุให้ลุกขึ้นมากำหลาบปราบปรามกันเสียบ้าง
แต่ก็มาฉุกคิดว่าทำไมคนไทยเราจะต้องต่อสู้กันเอง และหากถึงขั้นรุนแรงจะต้องมาทำร้ายกันเอง…นึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เราเองก็เคยน้ำตาไหลมาแล้วกับเหตุการณ์ครั้งนั้น
ไม่รู้จะพึ่งใครก็ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่คนไทยนับถือรวมทั้ง พระพุทธเมตตา ที่ว่านี่แหละ…ขณะเดียวกัน ก็ขอเชิญชวนให้คนไทยนึกถึงพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปพร้อมๆ กันด้วย จะได้รักใคร่กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน
วันนี้ 20 กรกฎาคม 2566 ผ่านเหตุการณ์วันตึงเครียด 19 กรกฎาคมไปเรียบร้อยแล้ว (ผมต้องส่งต้นฉบับล่วงหน้าและสวดมนต์ล่วงหน้า) หวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะจบลงด้วยดีนะครับ.
“ซูม”