“กีฬา” กับ “เศรษฐกิจ” “เรียนรู้” จาก “ซีเกมส์”

วันนี้ผมขอหลบฉากจากการเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานไปเขียนถึงเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ บ้างนะครับ

โดยเฉพาะเรื่องราวของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพและได้ปิดฉากรูดม่านไปเรียบร้อยเมื่อวันพุธที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เสียดายที่ผมต้องเขียนต้นฉบับก่อนพิธีปิดการแข่งขันจะเริ่มขึ้น ตอน 6 โมงเย็น จึงไม่ทราบว่าทางกัมพูชาจะจัดได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการแค่ไหน…แต่จากที่ดูในพิธีเปิด ซึ่งเขาทำได้ดีมาก ผมก็คาดเดาว่าคงจะจัดพิธีปิดได้อย่างประทับใจเช่นกัน

มาคุยกันถึงเรื่องเหรียญทองดีกว่าครับ ปรากฏว่า เวียดนาม สามารถคว้าตำแหน่ง “เจ้าเหรียญทอง” ไปครองได้อีกครั้ง โดยทำได้ 136 เหรียญทอง หลังจากครั้งก่อนเมื่อปี 2564 เขาทำได้ถึง 205 เหรียญทอง

ส่วนประเทศไทยของเราได้เหรียญทองเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 108 เหรียญทอง นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่เราได้แค่ “รองแชมป์” เพราะเมื่อปี 2564 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ เราก็ได้ที่ 2 นี่แหละ โดยได้มา 92 เหรียญทอง

มีนักสถิติบางท่านบอกกับนักข่าวว่า ไทยเราไม่ได้เจ้าเหรียญทองมา 4 สมัยแล้วนะ นับจากครั้งสุดท้ายที่เราได้คือ ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 ที่ประเทศสิงคโปร์ แสดงว่าการพัฒนากีฬาของเราย่ำแย่ลงหรือเปล่า?

มองเผินๆ ก็อาจจะคิดไปได้ว่า เราแย่ลงแต่ถ้ามองลึกไปในรายละเอียดผมก็ว่าโอเคครับ เพราะเราก็ยังเกาะอยู่ในอันดับต้นๆ อยู่เสมอ

เพราะหลังจากเราได้เจ้าเหรียญทองซีเกมส์ที่สิงคโปร์แล้ว ชาติที่เป็นเจ้าภาพ หลังจากนั้นเขาก็พยายามจัดกีฬาที่เขาถนัดเข้ามาเยอะหน่อย และเผอิญว่ากีฬาที่เป็นสากลก็มีที่เขาเก่งอยู่บ้าง…เขาก็คว้าตำแหน่งแชมป์เหรียญทองไปได้ทุกประเทศ

ดังเช่น มาเลเซีย เจ้าภาพปี 2560 ได้เจ้าเหรียญทอง ฟิลิปปินส์ เจ้าภาพ ปี 2562 ได้เจ้าเหรียญทอง และ เวียดนาม เจ้าภาพปี 2564 ก็ได้เจ้าเหรียญทองเช่นกัน แบบขาดลอยดังตัวเลขที่กล่าวไว้แล้ว

ในขณะที่ไทยเราก็เกาะที่ 2 มาแทบทุกครั้ง ยกเว้นปีที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ เราเข้าที่ 3 โดยเวียดนามเป็นที่ 2

ผมจึงมองว่า การพัฒนากีฬาของเรามิได้ตกต่ำ หรือถดถอยไปเลย เมื่อมองจากมาตรฐานของเรา แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า เวียดนาม เขาพัฒนาได้เร็วขึ้นมาก

ผมได้ยินผู้ใหญ่ของการกีฬาแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้ามองเฉพาะกีฬาที่เป็นสากลที่ใช้แข่งกันในเอเชียนเกมส์ หรือในโอลิมปิก โดยตัดกีฬาท้องถิ่นออกไป เรายังเหนือกว่าทุกประเทศในย่านนี้อยู่…ผมยังไม่มีโอกาสตรวจสอบตัวเลขแต่ก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น

จึงมิได้รู้สึกเสียใจหรือเสียดายที่เราได้ที่ 2 ในประเภท เหรียญทอง รวมแพ้ เวียดนาม กลับมาในครั้งนี้

ในทางตรงข้ามกลับรู้สึกภูมิใจและพอใจที่นักกีฬาของเรายังทำหน้าที่ได้ดีและรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ดังที่ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์เมื่อวันก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นที่ต้องฝากไว้ก็คือ เราจะต้องไม่ประมาทความสำเร็จของเวียดนามที่ได้เป็นเจ้าเหรียญทองในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นสนามการแข่งขันกลาง

ผมมีความเชื่อส่วนตัวมานานแล้วว่า “กีฬา” กับ “การพัฒนาเศรษฐกิจ” เป็นของคู่กัน จะพบว่าประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วนั้นจะมีการพัฒนากีฬาควบคู่ไปด้วยโดยอัตโนมัติ

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตรวดเร็วมากแม้ในช่วงโควิดก็ยังเติบโตอย่างโดดเด่น จึงไม่แปลกอะไรที่การกีฬาของเขาจะพัฒนาขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว

ในเชิงเศรษฐกิจมีการคาดหมายกันว่าถ้าอัตราความเติบโตของเวียดนามยังเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของเขาอาจแซงเราได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า (บางท่านว่าอาจภายใน 15-20 ปี)

ผมเชื่อว่าเราคงไม่ปล่อยให้เขาแซงแน่ๆ เพราะพ่อค้าวาณิชย์ที่เก่งๆ ของเราก็ยังมี และภาคราชการด้านเศรษฐกิจก็ถือว่าไม่ขี้ริ้วขี้เหร่…ถ้าเราไม่ทะเลาะกันจนเกินเหตุ ผมยังเชื่อว่าเขาแซงเรายาก

แต่กีฬาไม่แน่นะครับ ท่านผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยครับ… วันนี้ “กีฬาสากล” เขาอาจเป็นรองเราอยู่บ้าง แต่วันข้างหน้าไม่แน่…เขาอาจแซงก็ได้ในการแข่งขันกีฬาทุกประเภท

ก็เลยต้องฝากไว้…อย่าให้เขามาแซงในอีก 2 ปีข้างหน้าที่เราจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 33 ก็แล้วกัน.

“ซูม”

“กีฬา” กับ “เศรษฐกิจ” “เรียนรู้” จาก “ซีเกมส์”, เจ้าเหรียญทอง, เวียดนาม, กัมพูชา, การพัฒนาเศรษฐกิจ, กีฬาสากล,​ ซูมซอกแซก