บันทึก “14 พ.ค.2566” “ความฝัน” ก่อน “ปิดหีบ”

เนื่องจากเส้นตายสำหรับการส่งต้นฉบับของผมจะอยู่ที่ไม่เกิน 4 โมงเย็นของทุกๆ วัน ดังนั้นข้อเขียนของวันนี้ซึ่งเขียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 อันเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยนั้น จึงไม่สามารถรอผลการเลือกตั้งจนถึงที่สุดได้

เพราะจากช่วงเวลาที่ผมจะต้องส่งต้นฉบับ ยังเหลืออีกถึงหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ จึงจะปิดหีบการเลือกตั้งทั่วประเทศ

แต่ถ้าจะไม่เขียนอะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เลย ก็จะกลายเป็นการ “ตกเทรนด์” หรือไม่ทันเหตุทันกาลไปซะเปล่าๆ

จึงขออนุญาตเล่าและบันทึกบรรยากาศในช่วงเช้าๆ ของการเลือกตั้ง 2566 เท่าที่ผมมีโอกาสไปร่วมใช้สิทธิใช้เสียงด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เกร็ด” ประวัติศาสตร์เล็กๆ ก็แล้วกันครับ

จากการตรวจสอบในเอกสารที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของประเทศไทยเท่าที่มีผู้บันทึกไว้…ผมน่าจะมีโอกาสออกไปใช้สิทธิใช้เสียงประมาณ 15-16 ครั้ง เท่านั้นในชีวิตนี้

แม้ผมจะสนใจมากและไปนั่งฟังการปราศรัยหาเสียงและดู “หนังไทย” ที่สมัยโน้นเขายังอนุญาตให้นำมาฉายหาเสียงได้ ที่ชายหาดอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

แต่กว่าจะได้เลือกตั้งครั้งแรก หรือ “เปิดซิง” การเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตก็เมื่ออายุปาเข้าไป 30 กว่าๆ โน่นแล้ว

เหตุเพราะในช่วงที่ผมมีอายุพอจะเข้าเกณฑ์เลือกตั้งได้นั้นเป็นยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติปกครองด้วยรัฐบาลทหารยาวนานมาจนถึงยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ร่วมๆ 15-16 ปี

ช่วง พ.ศ.2512 จอมพลถนอมจัดให้มีการเลือกตั้งแก้ขวยอยู่หนหนึ่ง ซึ่งผมก็ไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาพอดี หมดสิทธิเข้าร่วม

เพิ่งจะมีโอกาสเมื่อปี 2517 หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสรรพในยุคของท่านอาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ นั่นเอง

จำได้ว่าผมตื่นเต้นมากในการเปิดซิงครั้งนั้น ไปรอใช้สิทธิใช้เสียงตั้งแต่ 7 โมงเช้าที่คูหาเลือกตั้งในบริเวณลานจอดรถของ การเคหะแห่งชาติ ใกล้ๆ หมู่บ้านคลองจั่น เขตบางกะปิ ของผมในปีที่ว่า

หลังจากนั้น ความตื่นเต้นของผมก็ค่อยๆ  ลดลงไปบ้าง เมื่อประเทศไทยของเราแกว่งไปแกว่งมา เดี๋ยวเป็นเผด็จการเดี๋ยวเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งอีกประมาณ 15-16 ครั้ง

แม้ความตื่นเต้นจะลดลง แต่ผมก็ถือว่า “การใช้สิทธิ” เป็นหน้าที่ที่ผมจะต้องทำ จึงไปเลือกทุกครั้งที่ประเทศไทยของเรามีการเลือกตั้ง และมีอยู่ 2 ครั้งตรงกับห้วงเวลาที่ผมจะต้องเดินทางไปต่างประเทศพอดี จึงไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทั้ง 2 ครั้งในปีดังกล่าว

สำหรับครั้งนี้ผมกลับมารู้สึก “ตื่นเต้น” อีกครั้งหนึ่ง เพราะเห็นด้วยกับคำกล่าวของหลายๆท่านที่ว่า เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะ “เปลี่ยนประเทศไทย”

ผมนั้นไม่ขัดข้องและยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยของเราจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างปฏิรูปและไม่ทำลายวัฒนธรรม ตลอดจนสถาบันหลักที่คนไทยเคารพนับถือ

แต่เมื่อมีบุคคลกลุ่มหนึ่งเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่น่ากังวลใจ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่หลวงในอนาคต ผมจึงหวังว่าคนรุ่นเก่าอย่างผม จะช่วยกันออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าเราไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้

เป็นที่มาของข้อเขียนชุดใช้ “เกษียณ” สู้ “กระแส” ของผมเรียกร้องให้ผู้สูงอายุออกมาใช้สิทธิใช้เสียงมากๆ ด้วยความหวังว่า ผู้อาวุโส ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานกว่า น่าจะตัดสินใจได้ดีกว่า

ผมพบว่า ในช่วงเช้าของคูหาเลือกตั้งหลายๆคูหาที่ สวนพฤกษชาติ คลองจั่น ข้างๆ บ้านผม มีผู้อาวุโสมาใช้สิทธิใช้เสียงค่อนข้างมาก และจากการติดตามข่าวทางโทรทัศน์ก็พบว่า ผู้เกษียณ หรือที่บางท่านเรียกว่า “ช้างศึก” ออกมาใช้เสียงมากเป็นพิเศษทั่วประเทศไทย

แต่ก็อย่างที่ว่า ข้อเขียนนี้จบลงเมื่ออีก 5 นาที จะ 4 โมงเย็นวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. ยังมีเวลาอีกยาวนานเหลือเกิน

ไม่ทราบว่าข่าวหน้า 1 วันนี้จะพาดหัวอย่างไรบ้าง? โปรดอ่านกันเอาเองนะครับ

ผมก็ยังคงฝันลมๆ แล้งๆ ของผมว่า ผู้สูงอายุ หรือผู้เกษียณ หรือ “ช้างศึก” (และช้างป่วย) จะได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้.

“ซูม”

บันทึก “14 พ.ค.2566” “ความฝัน” ก่อน “ปิดหีบ”, เลือกตั้ง, การเมือง, เผด็จการ, ประชาธิปไตย, ประเทศไทย, ช้างศึก, ซูมซอกแซก