เมื่อวานผมสรุปตัวเลขโดยรวมของประชากรไทยในแต่ละ “เจน” หรือกลุ่มอายุต่างๆ พร้อมด้วยคุณสมบัติของแต่ละกลุ่มที่นักวิชาการเคยให้คำจำกัดความไว้มาให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วันนี้เราลองมาวิเคราะห์กันเลยครับว่า ศึก “ต่างเจน–ต่างใจ” หรือศึก “ความคิดและความเชื่อ” ของคนไทยแต่ละกลุ่มอายุที่จะใช้สิทธิใช้เสียงผ่านการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้จะออกมาอย่างไร? ใครหรือพรรคไหน จะเป็นฝ่ายชนะ?
ถ้าเราเริ่มจากดูตัวเลขโดยรวมของแต่ละกลุ่ม จะพบว่าตัวเลขของกลุ่ม “เจน Z” ที่มีอายุระหว่าง 11-26 ปี และจะมีผู้มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 7.6 ล้านคนเศษ จะเห็นว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าทุกๆ กลุ่ม
เชื่อว่าส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้อาจสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ด้วยซํ้าที่ตัดสินใจ อย่างแน่วแน่ว่าสนับสนุน พรรคก้าวไกล ดังจะได้เห็นจากโพลการสำรวจทั้งจากสำนักโพลที่มีชื่อเสียงและจากสื่อมวลชนบางค่าย ซึ่งปรากฏว่าคะแนนของพรรคก้าวไกลออกมานำลิ่ว
ขยับมาที่กลุ่ม “Gen Y” หรือกลุ่มอายุ 27-42 ปี ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 15 ล้านคนเศษ
เชื่อกันว่าผู้มีอายุช่วงต้นๆ ของเจนนี้น่าจะโหวตให้พรรคก้าวไกลเช่นเดียวกับกลุ่ม Z ส่วนผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป น่าจะกระจายการสนับสนุน ไปหลายๆ พรรค เช่น เพื่อไทย, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยเพื่อชาติ และอื่นๆ ตามลำดับ
เท่ากับว่ากลุ่ม (Gen Y) ซึ่งมีประชากร 15 ล้านคนที่ว่านี้จะแบ่ง กันไปในหลายๆ พรรคการเมือง ทั้งที่เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านในขณะนี้ รวมถึงพรรคก้าวไกลด้วยบางส่วน
ถัดไปก็คือ “เจนเอ็กซ์” หรือ Gen X ซึ่งมีอายุ 43-58 ปี และมีประชากรรวมแล้วมากสุด คือ 16 ล้านคนเศษ
ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ของรุ่นนี้จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย, ภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่นๆ
ถัดไปอีกได้แก่เจน “เบบี้บูม” หรือ Gen B อายุ 59-77 ปี 11 ล้านคนเศษ ผมก็มองว่า ยังคงกระจายๆ กันไปในพรรคต่างๆ ที่เอ่ยถึง ก่อนหน้านี้ และจะมีผู้สนับสนุนก้าวไกลน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย
สุดท้ายคือกลุ่ม Silent Gen หรือบางครั้งก็เขียนว่า Traditionalist อายุ 78-98 ปี ที่ได้ชื่อว่า “อนุรักษนิยมสุดๆ” ซึ่งมีอยู่ 2 ล้านคนเศษ
กลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกัน รสนิยมทางการเมืองไม่แตกต่างไปจากกลุ่ม “เบบี้บูม” มากนัก เชื่อว่าจะกระจายการสนับสนุนอยู่ในพรรครุ่นเก่า 4-5 พรรค สำหรับการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึง
กล่าวโดยสรุปเมื่อมองในภาพรวมจากทุกกลุ่มเจน ผมยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.มามากเป็นอันดับ 1 แต่ไม่น่าจะแลนด์สไลด์อย่างที่คาดไว้ อันดับ 2 น่าจะเป็น ภูมิใจไทย ตามด้วย อันดับ 3 ประชาธิปัตย์ อันดับ 4 พลังประชารัฐ อันดับ 5 ก้าวไกล อันดับ 6 รวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ
ก้าวไกลแม้จะกระแสแรงมาก และมีฐานคะแนนที่แน่นเหนียวจาก Gen Z แต่ถ้า Gen อื่นๆ แห่กันมาใช้สิทธิท่วมท้น อันดับของก้าวไกล น่าจะอยู่ประมาณที่ 5 ดังกล่าว
เว้นเสียแต่ Gen อื่นๆ จะไม่ออกมามาก ในขณะที่คนเจน Z บวก เจน Y จะออกมาแน่ๆ…นั่นแหละ ที่นั่งของก้าวไกลอาจจะแซงพลังประชารัฐขึ้นมาที่ 4 หรือแม้แต่จะแซงประชาธิปัตย์ขึ้นมาที่ 3 ได้เช่นกัน
ตัวผมเองจัดอยู่ในเจนสุดท้ายที่เขาบอกว่า อนุรักษนิยมสุดๆ และไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง…แต่ขอปฏิเสธว่าผมยินดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างเคารพและให้เกียรติคนรุ่นเก่า ทั้งในแง่ผลงานที่คนรุ่นเก่าสร้างไว้ รวมถึงสิ่งที่คนรุ่นเก่าเคารพนับถือ
ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องอาวุโสรุ่น “เบบี้บูม” และ Gen T ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงให้มากๆ เพื่อช่วยกันพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งขนบธรรมเนียมอันดีงามต่างๆ ของประเทศไทย รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืนสืบไปตราบกาลนาน
เรามีนัดกันวันที่ 14 พ.ค. นะครับ สำหรับ “คน 2 เจน” ตั้งแต่ อายุ 59 ไปถึง 98 ปี (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) โน่นเลย.
“ซูม”