“ต่างเจน” จึง “ต่างใจ” ตัวแปร “เลือกตั้ง” 2566

นักวิเคราะห์การเมืองระดับเกจิหลายท่านมีความเห็นตรงกันว่า ศึกการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 หรืออีก 13 วัน นับจากพรุ่งนี้เป็นต้นไป จะเป็น “ศึก” ระหว่างคนไทยต่าง “เจเนอเรชัน” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าต่าง “เจน”

เพราะ “ต่างเจน” จึง “ต่างใจ” ต่างความคิด และความเชื่อถือ ทำให้สังคมไทยซึ่งประกอบด้วย ประชากรเจนต่างๆ คิดไม่เหมือนกัน เชื่อไม่เหมือนกัน อันจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

ก่อนจะวิเคราะห์ว่าต่างเจนต่างใจอย่างไรบ้าง เรามาทบทวนกันอีกครั้งว่า “เจน” คืออะไร และประเทศไทยของเรามีทั้งหมดกี่ “เจน”?

คำว่า “เจน” หรือ “เจเนอเรชัน” นั้น หมายถึง “กลุ่มอายุ” ของประชาชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งเท่าที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ทั่วโลก จะแบ่งเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรก เรียกว่า Gen Z ซึ่งถ้าออกเสียงแบบอังกฤษคือ “เจน แซ่ด” ผู้เกิด ปี 2540-2555 หรือผู้มีอายุระหว่าง 11-26 ปี

เจนนี้เป็นเจนที่เกิดมาพร้อมกับความเจริญเติบโต และการพัฒนาอย่างใหญ่หลวงของระบบดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ มีโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะเป็นอาวุธคู่กาย พร้อมกับเรียนรู้เกือบทุกสิ่งอย่างจากโทรศัพท์มือถือ จึงเท่ากับเป็นลูกหลาน หรือลูกศิษย์ของมือถือ ที่เปรียบประดุจ “พ่อ-แม่” หรือครูบาอาจารย์ของคนเจนนี้

ตัวเลขคร่าวๆ ของประชากรในกลุ่มนี้เฉพาะผู้มีอายุ 18 ปีไปถึง 26 ปี ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งได้ จะมีประมาณ 7 ล้าน 6 แสนคน

กลุ่มถัดมาได้แก่ “เจนวาย” หรือ “Gen Y” นับจากคนเกิด พ.ศ.2524-2539 อายุระหว่าง 27-42 ปี ถือเป็นคนยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยีทันสมัย เพราะเริ่มมีคอมพิวเตอร์ เริ่มมีและใช้อินเตอร์เน็ตกว้างขวางขึ้น รวมทั้งเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นแรกๆ (กระดูกหมา) เพียงแต่ยังไม่ใช่ “โทรศัพท์อัจฉริยะ” ทำอะไรได้ร้อยแปดเท่านั้น

ยุคนี้เป็นยุคของการพัฒนาประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เป็นยุคโชติช่วงชัชวาลจาก “ป๋าเปรม” สู่ “น้าชาติ” และจำนวนประชากรในเจนนี้สามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ทั้งหมดมีประมาณ 15 ล้านคน

จากนั้นก็เป็นกลุ่มที่เรียกว่า Gen X หรือ “เจนเอ็กซ์” เกิดระหว่าง พ.ศ.2508-2523 (อายุ 43-58 ปี) ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการวางแผนครอบครัวและเริ่มนโยบาย “ลูกมากยากจน” ในยุคนี้

ทำให้เด็กที่เกิดในยุคนี้มีทั้งดีและเจ้าปัญหา ที่ดีก็เพราะเป็นลูกคนเดียวบ้าง 2 คนบ้าง พ่อแม่ดูแลเต็มที่ แต่ที่ไม่ดีก็เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศเข้าสู่การพัฒนายุคใหม่พ่อแม่ทำงานหนักปล่อยลูกอยู่กับบ้านมีทีวีกับคนใช้เป็นเพื่อน ทำให้เด็กที่เติบโตในรุ่นนี้มีความก้าวร้าว แต่ก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ว่ากันว่าเจนนี้มีจำนวนเยอะสุดประมาณ 16 ล้านคน และเป็นกำลังหลักของประเทศในปัจจุบัน

ทีนี้ก็มาถึง “เจนบี” Gen B หรือ “เบบี้บูมเมอร์” นับตั้งแต่ผู้เกิดปี 2489-2507 อายุ 59-77 ปี ซึ่งเป็นรุ่นก่อนโลกและประเทศไทยจะรู้จัก “ยาคุมกำเนิด” หรือถุงยาง ผู้คนจึงเกิดอย่างมากมายจนหวั่นประชากรจะล้นโลก หรือล้นประเทศ รวมทั้งในบ้านเราด้วย

ยุคนี้เป็นยุคของ จอมพล.ป.พิบูลสงคราม ต่อมาถึงยุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บ้านเมืองเป็นเผด็จการ แต่ในภาพรวมกลับมีการพัฒนาที่โดดเด่น และผู้คนที่เกิดยุคนี้ก็มักหัวอ่อนอยู่ในวินัย ทำงานหนัก จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาประเทศและผ่านพ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์มาได้

มาถึง กลุ่มสุดท้าย เรียกว่ากลุ่ม Silent Gen บ้างก็เรียกว่า Gen T หรือ เจนที เกิดระหว่าง 2468-2488 อายุ 78-98 ปี หมายถึงกลุ่ม Traditionalist ยึดมั่นในขบมธรรมเนียมประเพณี เน้นค่านิยมไทย หลายๆ คนมีประสบการณ์ผ่านยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก ในช่วง ค.ศ.1930 หรือ 2473 เป็นต้นมา ผ่านยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีมาด้วย

นักวิชาการบางท่านระบุว่าคนยุคนี้ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งและอยากให้โลกกลับไปหาวันคืนเก่าๆ กลุ่มนี้มีประมาณ 2 ล้านคนเศษ และรวมผมผู้เขียนคอลัมน์อยู่ด้วยครับ.

“ซูม”

“ต่างเจน” จึง “ต่างใจ” ตัวแปร “เลือกตั้ง” 2566, การเมือง, ส.ส., วิเคราะห์, เจเนอเรชัน, กลุ่มอายุ, ประเทศไทย, ซูมซอกแซก