จารึกในความทรงจำ งาน “รัตนโกสินทร์ 241”

ผ่านไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่อลังการและประทับใจอย่างสุดที่จะบรรยายได้ สำหรับงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”

เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบ 241 ปี ของการก่อตั้งเมืองหลวงล่าสุดแห่งแผ่นดินสยามที่จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ 21–25 เมษายนที่ผ่านมา

จาก 11 วัด และ 10 แห่งเรียนรู้รอบเกาะรัตนโกสินทร์ รวมทั้งพระบรมมหาราชวัง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ฝ่ายประเมินผลของกระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า มีประชาชนไปร่วมงานกว่า 4 แสนคน และสร้างความรับรู้สู่ประชาชนผ่านสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และออนไลน์ มากกว่า 45 ล้านครั้ง

ในขณะเดียวกันก็ได้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในด้านอาหาร และผลิตภัณฑ์ตลอด จนบริการด้านวัฒนธรรมมากกว่า 600 ราย ประมาณการรายได้จากผู้มาร่วมงานกว่า 137 ล้านบาท และยังคาดว่า จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ของผู้ประกอบการและประชาชนที่นำสินค้าวัฒนธรรมมาร่วมงานใน 6 เดือนข้างหน้าอีกเกือบๆ 700 ล้านบาท

ข้อมูลและตัวเลขข้างต้นนี้ปรากฏอยู่ในสารคดีเชิงข่าวเผยแพร่โดยกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งทีมงานซอกแซกขออนุญาตอ้างอิงเพื่อตอกย้ำถึงความสำเร็จในเชิงรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการจัดงานครั้งนี้

การประเมินจะถูกต้องมากหรือน้อยเพียงใด หัวหน้าทีมซอกแซกไม่ติดใจ เพราะได้มีโอกาสไปเดินและนั่งรถรางชมด้วยตนเองในค่ำคืนวันจันทร์ที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แม้จะเพียงแค่ 2 สถานที่ คือ ณ บริเวณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางของการจัดงานครั้งนี้ กับ ณ บริเวณ สวนสันติชัยปราการ ซึ่งเป็นสถานที่แสดง “อุโมงค์เรืองแสง” และนิทรรศการ “สวนแสง” พระราชประวัติ 10 รัชกาล ก็สามารถจะยืนยันเพื่อเป็นพยานให้แก่ตัวเลขและข้อมูลข้างต้นได้อย่างดียิ่ง

ผู้คนแน่นมาก ร้านค้าวัฒนธรรมทั้งอาหาร เสื้อผ้า เครื่องเงิน เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มีผู้คนไปอุดหนุนไม่ขาดสาย น่าจะขายดี และทำเงินทำรายได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้

โดยเฉพาะอาหารวัฒนธรรมที่มาจากจังหวัดต่างๆ ส่วนมากจะขายหมดก่อนเวลา เช่น ขนมเบื้อง, กุยช่ายทอด, บ้าบิ่น, เมี่ยงกลีบบัว ฯลฯ

โดยเฉพาะกุยช่ายทอดเบตง ที่อร่อยล้ำจนทีมงานซอกแซกของเรารายหนึ่งต้องตามไปซื้ออีกหลายกล่องหลายถุงในวันรุ่งขึ้นเพื่อไปแจกต่อให้คนที่รักที่ชอบได้มีโอกาสลิ้มรสบ้าง

ที่สำคัญการเข้าไปเดินในงานนี้ยังมีคุณค่าทางจิตใจทางสังคมเกิดขึ้นอย่างมากมายที่ไม่สามารถจะวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ และมิได้อยู่ในรายงานของกระทรวงวัฒนธรรม ดังกล่าว

นั่นก็คือความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยในผืนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ทั้ง 10 รัชกาล แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ขณะเดินชม พิพิธภัณฑแห่งชาติพระนคร ยามค่ำคืนรอบนอกก็รู้สึกนึกย้อนหลังไปว่าที่นี่คือ วังหน้า ซึ่งเป็นที่ประทับของ “อุปราช” องค์ต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่กำลังมีงานรื่นเริงในอดีตกาล

เพียงแต่เปลี่ยนจากปี่พาทย์ลาดตะโพนมาเป็นการแสดง “วงดนตรีลูกทุ่ง” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนไทย และมีรายงานว่าก่อนหน้านี้หนึ่งคืนเป็นการแสดงของ มนต์แคน แก่นคูณ มีแฟนเพลงลูกทุ่งมานั่งชมแน่นขนัดไปหมด

ส่วนค่ำที่หัวหน้าทีมซอกแซกไปเดินนั้นเป็นคิวของ ตรี ชัยณรงค์ นักร้องลูกทุ่งก็ได้หมอลำก็ได้เจ้าของพวงมาลัยเงินแสน…ปรากฏว่าแน่นขนัดพอๆ กัน

ไม่เพียงแค่วัฒนธรรมใหม่อย่างเพลงลูกทุ่งเท่านั้น วัฒนธรรมประจำชาติของแท้ เช่น ละครนอก, ละครใน โขน, โนรา, ลิเก หรือแม้แต่งิ้วที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารก็มีมาแสดงให้ชม สลับกันไปทุกๆ คืน

สำหรับผู้ที่มีโอกาสเดินเข้าไปดูชมในอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ยุคโบราณกาล อันวิจิตรตระการตานั้นคงไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าความงดงาม ความละเอียด ความอ่อนช้อย รวมถึงความยิ่งใหญ่ด้วย สำหรับศิลปะหลายๆ ชิ้นที่ตั้งแสดงอยู่นั้นเหนือคำบรรยายจริงๆ

เฉพาะ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แห่งเดียวน่าจะต้องใช้เวลาเดินหลายๆ ชั่วโมง หากจะดูให้ครบถ้วน

จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสนั่งรถรางไฟฟ้าผ่าน ถนนพระอาทิตย์ ไปสู่ สวนสันติชัยปราการ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงอุโมงค์ไฟเรืองแสงและพระราชประวัติ 10 รัชกาล ดังได้กล่าวไว้แล้ว

ในแต่ละรัชกาลจะนำพระราชกรณียกิจอันโดดเด่นของพระองค์ท่านมาจัดแสดงผ่านแสงไฟหลากสี ซึ่งเพียงเห็นครั้งแรกก็ทราบว่าหมายถึงอะไร? และเป็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ใด?

กว่าจะเดินครบก็ต้องใช้เวลานานมาก เพราะจะต้องหยุดถ่ายรูปกันไปด้วยเป็นระยะๆ เพื่อ “เช็กอิน” ภาพตัวเรากับนิทรรศการแสงสีทั้งหมดไว้เป็นที่ระลึกตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยยุคนี้

นอกจากนี้ก็ยังจะมีการฉายและบรรยายถึงประวัติของแต่ละพระองค์ให้ชมบนจอมัลติวิชัน เป็นรอบๆ อีกด้วย

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้คงไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขใดๆ ได้เพราะล้วนเป็น “นามธรรม” ทั้งสิ้น

แต่ก็เป็น “นามธรรม” ที่ยิ่งใหญ่และจะสถิตอยู่ในความทรงจำของพี่น้องชาวไทยที่ไปเยือนงานนี้ตราบนานแสนนาน

แม้งานอื่นๆ ในภาพรวมจะยุติไปแล้ว แต่สถานที่สำคัญที่นำมาให้เยือนให้ชมในงานนี้ทั้ง 21แห่ง ยังคงยืนหยัดเคียงคู่ประเทศไทยต่อไป ไม่ว่าวัดวาอารามหรือพระบรมมหาราชวัง หรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มีเวลาว่างวันใด สามารถที่จะแวะไปดูไปชมไปเยี่ยมเยือน เพื่อสั่งสมความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาในแผ่นดินไทย ภายใต้ร่มพระบารมี พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ให้เต็มเปี่ยมมากยิ่งขึ้น

สำหรับงานแสดง “อุโมงค์ไฟเรืองแสง” ที่สวนสันติชัยปราการ จะยังมีต่อไปทุกยามค่ำจนถึงวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคมนี้ ใครยังไม่ได้ชมรีบจัดคิวไปชมพร้อม “มือถือรุ่นที่ถ่ายภาพได้คมชัดที่สุดด้วยนะครับ เพื่อเก็บภาพประทับใจเหล่านี้ไว้ในไฟล์และความทรงจำของท่านไปอีกนานแสนนาน.

“ซูม”

จารึกในความทรงจำ งาน “รัตนโกสินทร์ 241”, วัฒนธรรม, ข่าว, พระราชประวัติ, กุยช่ายทอดเบตง, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร, วังหน้า, ซูมซอกแซก, อุโมงค์ไฟเรืองแสง, ถนนพระอาทิตย์