แตกหน่อ “น่านแซนด์บ็อกซ์” จาก “รักษ์ป่า” สู่ “รักษ์สุขภาพ”

เมื่อวานนี้ผมเล่าเรื่องความคืบหน้าของโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” มาจบลงที่ข้อเสนอว่าควรจะต้องค้นหา “หญ้ายา” หรือพืชที่มีสรรพคุณทางยา (ราคาแพง) มาปลูกใต้ต้นไม้ในป่าไม้เมืองน่าน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ค่อนข้างดี อยู่กินอย่างสมบูรณ์พูนสุข

แต่การค้นหา “หญ้ายา” ก็ไม่ใช่ง่ายนัก จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าและวิจัยอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งทางโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์โดยมูลนิธิรักษ์ป่าน่านกับมูลนิธิกสิกรไทย ได้จัดหางบประมาณจำนวนหนึ่งให้คณะเภสัช ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงรับไปดำเนินการวิจัยตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว

ปัญหาก็คือในระหว่างรอผลวิจัยซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรอยู่นี้ ในโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์จะมีมาตรการอะไรบ้างหรือไม่? เพื่อจูงใจเกษตรกรให้ยังอยู่กับโครงการโดยไม่หันกลับไปปลูกข้าวโพดที่ไม่คุ้มทุน ยิ่งปลูกยิ่งจน ที่เป็นปัญหาหลักมาโดยตลอด

แล้ววันหนึ่งคุณบัณฑูรในฐานะประธานคณะทำงานในระดับพื้นที่ก็ได้ความคิดนี้ ซึ่งจริงๆ เขาก็คิดไว้บ้างแล้วตั้งแต่ต้น แต่มาคอนเฟิร์มด้วยเหตุการณ์ที่เขาเล่าอย่างขำๆว่า “เพราะผมฉี่ไม่ออกแท้ๆ นำไปสู่โครงการพันล้านบาท เข้าให้เลย”

คืนหนึ่งขณะเริ่มโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ไม่นานนักคุณบัณฑูรซึ่งมีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมากต้องให้หมอที่โรงพยาบาลชั้นนำแห่งหนึ่งใน กทม.รักษาเยียวยาอยู่เป็นประจำ ไปเกิดปัญหาขึ้นหลังจากนั่งรถตระเวนขึ้นเขาลงห้วยมาตลอดทั้งวันของวันนั้นที่จังหวัดน่าน

เขาเกิดอาการปัสสาวะไม่ออกจึงต้องโทรศัพท์มาปรึกษาหมอประจำตัวที่ กทม.ว่าจะทำอย่างไรดี? คุณหมอก็แนะให้ไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลประจำจังหวัดน่านด่วน

เมื่อคุณบัณฑูรไปถึงห้องฉุกเฉินก็พบว่าสภาพโดยรวมโทรมมากเหมือนโรงรถเก่าๆ แห่งหนึ่งมีคนไข้มารักษาฉุกเฉินเต็มไปหมดและมีหมอหนุ่มๆ มาช่วยรักษาอยู่ 2 คน ซึ่งก็ช่วยเขาให้สามารถถ่ายปัสสาวะได้ในที่สุด

แต่สิ่งที่ติดตาเขาไปตลอดหลังจากนั้นก็คือ นี่หรือห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ดีที่สุด และใหญ่ที่สุดของจังหวัดน่าน?

ถ้าอยู่ในสภาพเช่นนี้จะดูแลสุขภาพอนามัยของคนน่านได้อย่างไร?

เป็นที่มาของการพูดคุยกับท่านผู้อำนวยการ แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช หลังจากนั้นพร้อมกับความตั้งใจที่จะบริจาคเงินให้โรงพยาบาลน่าน 50 ล้านบาท เพื่อสร้างห้องฉุกเฉินใหม่

แต่เมื่อคุยไปคุยมาก็พบว่า ปัญหาของโรงพยาบาลน่านหนักหนาสาหัสกว่านั้น ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เพราะไม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงบางอย่างได้

โรคหัวใจ โรคมะเร็ง หรือโรคอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณศีรษะ หรือกรณีเส้นเลือดในสมองแตก จะต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาล ศูนย์ลำปาง เกือบทั้งหมดและต้องใช้เวลาเดินทางไม่ตํ่ากว่า 3 ชั่วโมง

เมื่อได้ฟังปัญหาของคุณหมอและไต่สวนทวนความหารายละเอียดเพิ่มเติม คุณบัณฑูรในฐานะรองประธานมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ก็ตัดสินใจร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิขอเสนอตัวเป็นผู้อุปถัมภ์โรงพยาบาลน่านหลังจากนั้น

ร่วมก่อสร้างตึกอุบัติเหตุ ตึกรังสี พร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดในล้านนา มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกสิกรไทยและผู้ใจบุญจำนวนหนึ่ง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนเมษายนปีกลาย

คาดว่าจะเปิดใช้บางส่วนได้ในเดือนมีนาคม 2566 นี้

อาจมีคำถามว่า การที่โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์และมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ซึ่งเริ่มต้นด้วยเจตนาของการที่จะรักษาป่าไม้ของจังหวัดน่าน แต่หันมาสู่การรักษาสุขภาพ หรือ “รักษ์สาธารณสุข” เช่นนี้จะทำให้เจตนารมณ์ดั้งเดิมเบี่ยงเบนหรือไม่?

คุณบัณฑูรตอบว่า “ไม่เลย” แท้ที่จริงแล้วเกี่ยวโยงกันมาก เพราะการพัฒนาสาธารณสุขดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์แก่ชาวน่านโดยตรง และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรยากจนของจังหวัดน่านโดยตรงด้วย

เพราะการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้แก่จังหวัดน่าน ซึ่งพวกเขาก็จะได้รับบริการ (ที่น่าจะ) ดีขึ้นในอนาคตด้วยนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่ามูลนิธิรักษ์ป่าน่าน+มูลนิธิกสิกรไทย +โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ มีความรักและรักษ์พวกเขาจริง และพร้อมจะอยู่กับพวกเขาตลอดไป.

“ซูม”