“ตรุษจีน” นครสวรรค์ “107 ปี”..แห่งศรัทธา

วันนี้…วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 ตรงกับวันขึ้นปีใหม่ วันแรกหรือวัน “ชิวอิก” ถือเป็นวันมงคลอย่างยิ่งของชาวจีนทั่วโลก ซึ่งจะตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นแจ่มใสพร้อมด้วยความตั้งใจที่จะคิดดีทำดี และออกท่องเที่ยวหาความเบิกบานให้แก่ชีวิต

หัวหน้าทีมซอกแซกในฐานะคนไทยเชื้อสายจีน ขอตั้งจิตอธิษฐานให้ท่านผู้อ่านทุกท่านไม่ว่าเชื้อสายใดจงประสบแต่ความสุขความเจริญ “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ตลอด “ปีเถาะ” หรือ ปีกระต่าย ที่กำลังจะมาถึง และตลอดไปในทุกๆปีข้างหน้าตราบกาลนานโดยทั่วกัน

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มานานพอสมควรคงจะทราบดีแล้วว่า หัวหน้าทีมซอกแซกในฐานะที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของจังหวัดนครสวรรค์ (จังหวัดที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนได้อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยจังหวัดหนึ่ง และได้จัดติดต่อกันมานับร้อยปีแล้วนั้น) จะอุทิศเนื้อที่ในคอลัมน์ซอกแซก 1 คอลัมน์เต็มๆ เพื่อเขียนถึงตรุษจีนนครสวรรค์ตลอดมาทุกปีโดยไม่ว่างเว้น

ดังนั้น เมื่อนับตั้งแต่ พ.ศ.2516 มาจนถึง พ.ศ.2566 เป็นเวลา 50 ปีเต็มที่หัวหน้าทีมซอกแซก มีโอกาสมาเขียนรับใช้ท่านผู้อ่านไทยรัฐ จึงเท่ากับว่าได้เขียนไปแล้ว 49 ครั้ง โดยครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 50 เกือบครึ่งหนึ่งของระยะเวลา “107 ปี” ที่ชาว นครสวรรค์จัดงานตรุษจีนและจัดให้มีพิธี “แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่” ด้วยขบวนต่างๆ อันยิ่งใหญ่เกรียงไกร…ก็ว่าได้

สำหรับปีนี้ “ปีเถาะ” พ.ศ.2566 ซึ่งเป็น การเขียนครบ 50 ปีของทีมงานซอกแซกพอดิบพอดีนั้น ก็คงต้องเริ่มสั้นๆ ก่อนว่า ประเพณี “แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่” ของชาวปากน้ำโพ ได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 โดยประมาณ หลังจากเกิด “โรคห่า” ระบาดทั่วประเทศไทย และชาวนครสวรรค์เองก็พลอยล้มตายไปพอสมควรในระยะแรก เพราะขาดแคลนหยูกยาที่จะรักษาในยุคโน้น

แต่ด้วยความศรัทธาและจะเชื่อถือในองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ส่วนใหญ่ประทับอยู่ ณ ศาลเจ้าบริเวณ “แควใหญ่” อันเป็นจุดกำเนิดของ แม่นํ้าเจ้าพระยา…ชาวบ้านจึงไปบนบานขอพรขอความช่วยเหลือจากเจ้าพ่อเจ้าแม่ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองชีวิต รวมทั้งนำฮู้ หรือยันต์ต่างๆ มาแปะป้องกันตน บ้างก็เอาไปต้มนํ้าร้อนเป็นยารักษาโรค ซึ่งจะด้วยเหตุใดก็ตาม โรคห่าอันรุนแรงก็บรรเทาเบาบางลงจนสงบไปในที่สุด

ชาวปากนํ้าโพใน พ.ศ. ดังกล่าว จึงมีดำริที่จะจัดงานแห่เฉลิมฉลอง เพื่อเป็นการขอบคุณ และเพื่อการคุ้มครองต่อไปในภายภาคหน้า โดยจะอัญเชิญให้เจ้าพ่อเจ้าแม่เสด็จ จากศาลเจ้ามาสู่ท้องตลาด ปากนํ้าโพ ให้ทุกครัวเรือนสามารถตั้งโต๊ะไหว้หน้าบ้านได้อย่างทั่วถึง

เกิดเป็นประเพณีแห่เจ้า โดยทุกชุมชนชาวจีนของปากนํ้าโพ ซึ่งประกอบด้วย แต้จิ๋ว, ไหหลำ, กวางตุ้ง และจีนแคะ เป็นส่วนใหญ่ ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานอย่างพร้อมเพรียงตั้งแต่นั้นมา

มีทั้งขบวนสิงโต มังกร และขบวนอัญเชิญนางฟ้า เทพยดา ขบวนแห่เจ้าแม่กวนอิม ขบวนนักรบแห่งเขาเหลียงซาน ที่เรียกว่า เอ็งกอพะบู้ ฯลฯ

ต่อมาก็มีขบวน มังกรทอง เพิ่มขึ้นอีกขบวนหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นการปรากฏตัวของมังกรทอง ครั้งแรกในประเทศไทยก็ว่าได้ ที่ปากนํ้าโพนี้เอง จนทำให้ “มังกรทองนครสวรรค์” ติดปากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศไทยว่า หากจะดู “มังกรทอง” ของแท้ต้องไปดูที่ปากนํ้าโพเท่านั้น

ในขณะที่การแห่แหนซึ่งแต่เดิมเคยมีเฉพาะกลางวัน ตั้งแต่เช้าจดเย็นของ “วันชิวสี่” หรือวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 4 เท่านั้น ก็พัฒนามาเป็นการ จัดแห่เพิ่มในช่วงกลางคืนของ “วันชิวซา” หรือ วันปีใหม่วันที่ 3 ขึ้นด้วย เพื่อให้สามารถเล่นแสง สีเสียงในขบวนแห่ รวมทั้งมีการแสดง “แสง สี เสียง และสื่อผสม” ในระบบทันสมัยไปด้วยพร้อมๆ กัน

ในปี 2566 นี้ รูปแบบการจัดงานตรุษจีนนครสวรรค์ และขบวนแห่ต่างๆ ยังคงเป็นไปในกรอบเดิม แต่เพิ่มเติมความทันสมัยให้มากขึ้น รวมทั้งได้มีการประดับประดา ตกแต่งโคมไฟต่างๆเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ได้รับความสนับสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม มาร่วมจัดงาน “อารยธรรมแห่งสายนํ้า วัฒนธรรมไทยจีน สานสายใยชาติ พันธุ์” โดยจัดขึ้นที่บริเวณหาดทรายต้นแม่นํ้า เจ้าพระยา และอาคาร “พาสาน” สิ่งปลูกสร้างใหม่ ณ บริเวณ สามเหลี่ยม ที่แม่นํ้า 2 สาย แม่นํ้าปิง (รวมแม่นํ้าวังที่จังหวัดตากแล้ว) กับแม่นํ้าน่าน (รวมแม่นํ้ายมที่อำเภอชุมแสงแล้ว) กลายเป็นแม่นํ้า เจ้าพระยา…นั่นเอง

การจัดงานของกระทรวงวัฒนธรรมดังกล่าว สอดคล้องกลมกลืนกับงานประเพณีตรุษจีนอย่างยิ่ง และสิ้นสุดลงเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมกับส่งไม้ให้งานตรุษจีนดั้งเดิมของปากนํ้าโพ เดินหน้าต่อไปจนถึงวันที่ 26 มกราคมนี้

ภายใต้คำขวัญที่ว่า “สืบสานพลังแห่งศรัทธา รักษาประเพณี 107 ปี ตรุษจีนปากนํ้าโพ” และ แนวคิดหรือธีม “มังกรเบิกฟ้า บุปผาเบ่งบาน” นำเสนอทั้งขบวนมังกร ขบวนสิงโตอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร ควบคู่ไปกับความสวยงามของขบวนนางฟ้า และการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านต่างๆ

ในส่วนของ ขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ ปีนี้ จะเริ่มขึ้นในคืนวันอังคารที่ 24 มกราคม หรือคืน “ชิวซา” เช่นเดิม

จากนั้นในวัน “ชิวสี่” หรือวันรุ่งขึ้น 25 มกราคม 2566 ก็จะมีการแห่ภาคกลางวันด้วยขบวนที่ยาวกว่ายิ่งใหญ่กว่าและอัญเชิญศาลเจ้าครบถ้วนทุกศาล เข้าสู่ตลาดปากนํ้าโพ ให้กราบไหว้ขอพรอย่างใกล้ชิด

ท่านผู้อ่านที่สนใจจะไปชมขบวนแห่ สะดวก วันไหนก็ไปวันนั้นได้ครับ…ส่วนนักท่องเที่ยวต่าง ประเทศ ซึ่งในแต่ละปีก็ไปเป็นเรือนหมื่นอยู่แล้ว… จะไปเป็นเรือนแสนในปีนี้หรือไม่ ก็อยู่ที่การจัดการของบริษัททัวร์ต่างๆ นั่นแหละ

ขอฝากบริษัททัวร์ทั้งหลาย (ที่คงไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญ) ไว้ด้วยก็แล้วกัน และขอขอบคุณ www.paknamphocny.com สำหรับภาพ ประกอบที่สวยงามวันนี้ ดูแล้วอย่าลืมไปดูของจริงด้วยนะครับ…สวยกว่าที่เห็นหลายเท่า…ขอบอก!

“ซูม”

“ตรุษจีน” นครสวรรค์ “107 ปี”..แห่งศรัทธา, แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่, มังกรทองนครสวรรค์, มังกรทอง, ปากนํ้าโพ, พาสาน, เจ้าแม่กวนอิม, เอ็งกอพะบู้, ซูมซอกแซก