ตำนาน “เปเล่” กับคนไทย 52 ปี จุดประกาย “บอลโลก”

ผมตั้งใจจะเขียนถึง “เปเล่” นักเตะลูกหนังชาวบราซิล ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาลูกหนัง” ขวัญใจแฟนบอลทั่วโลกที่ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 สิริอายุ 82 ปี 2 เดือนเศษ ตั้งแต่ช่วงที่เขาจากไปหมาดๆแล้วละ

มาเขียนถึงช่วงนี้แม้จะช้าไปหน่อยแต่ก็ยังพอทันกาลนะครับ เพราะเพิ่งจะมีพิธีฝังศพของเขาอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อ 2 วันนี้เอง

ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นอัจฉริยะของเขาในเชิงฟุตบอล “ระดับโลก” ได้มีการเขียนถึงไปเป็นอันมากแล้ว

ผมจะขออนุญาตเขียนในส่วนที่เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาฟุตบอลไทย การพัฒนารสนิยมของการดูบอลของคนไทย และ การพัฒนาสื่อไทย ก็แล้วกัน เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครเขียนถึงมากนัก

ท่านที่มีอายุเกิน 70 ปี คงจะพอจำได้ว่าสื่อมวลชนหลักของประเทศไทยเมื่อ 60 ปีก่อน มีอยู่ 2 สื่อเท่านั้น คือหนังสือพิมพ์กับวิทยุ

ในขณะที่โทรทัศน์แม้จะเริ่มออกอากาศกันแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร รับดูชมได้เฉพาะเมืองใหญ่ๆเท่านั้น

เมื่อพูดถึง หนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อหลักอันดับ 1 และมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนไทยเป็นอันดับ 1 ในยุคดังกล่าว ในฐานะที่เป็นสื่อในการรวบรวมข่าวสารพัดที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและทั่วโลกมาให้อ่านมากที่สุด เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆในแต่ละวัน

ข่าวกีฬา ถือเป็นข่าวหนึ่งที่คนไทยในอดีตติดตามด้วยความชื่นชอบ แต่ก็มักจะเป็นข่าวเกี่ยวกับ “ชกมวย” เสียมากกว่า

เพราะกีฬาฟุตบอลเมื่อ 60 ปีก่อนยังได้รับความนิยมอย่างจำกัด ยิ่งฟุตบอลต่างประเทศด้วยแล้วแทบไม่มีข่าวในบ้านเราเลย

แม้แต่ข่าว ฟุตบอลโลก ซึ่งเริ่มดังไปทั่วโลกบ้างแล้วในยุคโน้น แต่สำหรับประเทศไทย ข่าวบอลโลกยังเป็นเพียงข่าว “หน้ากีฬา” หรือ “หน้าใน” หนังสือพิมพ์และเป็นข่าวเล็กๆเท่านั้น

รวมทั้งในปี 1958 หรือ พ.ศ.2501 ที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 6 ที่สวีเดน ซึ่งถือเป็นปีแจ้งเกิดของ “เปเล่” หนังสือพิมพ์บ้านเราก็เพียงแค่เสนอข่าวและภาพเล็กๆเป็นส่วนใหญ่

ทั้งๆ ที่ในปีดังกล่าว เปเล่ อายุแค่ 17 ปีเศษ และในวันที่ บราซิล เข้าชิงแชมป์บอลโลกกับ สวีเดน เจ้าภาพนั้น ถือว่าเป็นผู้เล่นบอลโลกอายุน้อยที่สุด แต่ก็สามารถยิงประตูได้ถึง 2 ประตูจากชัยชนะ 5-2 ของบราซิล

ถัดมาใน ค.ศ.1982 หรือ พ.ศ.2505 ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 7 ที่อุรุกวัยเป็นเจ้าภาพ บราซิล ก็คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 มาครองได้อีกแบบทันทีทันควัน 2 สมัยซ้อนแต่ก็ยังเป็นข่าวเล็กๆ ของประเทศไทยอยู่ดี

มาถึงปี 1966 หรือ พ.ศ.2509 อังกฤษขันอาสาเป็นเจ้าภาพและคนไทยเราเริ่มรู้จักฟุตบอลโลกมากขึ้น มีการพูดถึงนักเตะดังๆ หลายคนของปีดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะนักเตะอังกฤษ “แชมป์โลก” ในปีนั้น

แต่ก็ยังเป็นการรับรู้จากข่าวเล็กๆ หน้าในเช่นเดิม

จนกระทั่ง ค.ศ.1970 ฟุตบอลโลกครั้งที่ 9 ที่ เม็กซิโก และ เปเล่ ซึ่งเคยท้อแท้ใจจากการถูกเตะน่วม จนอยากจะเลิกฟุตบอลได้หวนกลับสู่ทีมชาติบราซิลอีกครั้งพร้อมขุนพลเลือดใหม่ชาวบราซิลกะตั้กใหญ่

ฟุตบอลโลก ค.ศ.1970 หรือ พ.ศ.2513 นี่เองที่ถือเป็น “ตำนาน” ทั้งของฟุตบอลโลก และการทำข่าวบอลโลกในประเทศไทย

ดังที่ผมเคยเล่าไว้แล้ว 2 ยักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐ” และ “เดลินิวส์” แข่งกันนำข่าวบอลโลกขึ้นพาดหัวยักษ์หน้า 1 และกลายเป็นข่าวที่ขายดีมากข่าวหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์บ้านเรา

ขณะเดียวกันทีมชาติบราซิล ที่ประกอบด้วย 3 ทหารเสือกองหน้า “เปเล่”, “ทอสเทา” และ “แจร์ชินโฮ” ก็เล่นโดดเด่นมาก

ทำให้แฟนบอลไทยหันมาเชียร์ทีมชาติบราซิลราวกับเชียร์ทีมชาติไทยอย่างไรอย่างนั้น กลายเป็นแรงกดดันทางการเมือง ทำให้รัฐบาลใน พ.ศ.ดังกล่าว (จอมพลถนอม กิตติขจร) ต้องตัดสินใจถ่ายทอดสดนัดชิงชนะเลิศ ระหว่าง บราซิล กับ อิตาลี โดยช่อง 4 บางขุนพรหม

นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางโทรทัศน์ครั้งแรกของประเทศไทย

เปเล่กับทีมชาติบราซิลเป็นพระเอก เอาชนะทีมชาติอิตาลีได้ 4-1 โดยเปเล่เป็นคนเบิกประตูแรกในนาทีที่ 18 และได้ “ฟุตบอลทองคำ” นักเตะยอดเยี่ยมไปครองด้วย…สมใจคนไทยทั้งประเทศที่เชียร์เขาและทีมชาติบราซิลในช่วงดึกของวันที่ 22 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย

นี่คือส่วนหนึ่งของตำนานและเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ ของเปเล่ กับวงการฟุตบอลไทย แฟนบอลชาวไทย และสื่อมวลชนไทย

เป็นสุขเป็นสุขเถอะ “เปเล่” ขอบคุณสำหรับการ “จุดพลุ” ฟุตบอล โลกไว้ในหัวใจคนไทยนับแต่บัดนั้น จนถึงบัดนี้ 52 ปี พอดีเป๊ะเลย!

“ซูม”

ข่าว, ฟุตบอลโลก, เปเล่, บราซิล, ราชาลูกหนัง, ฟุตบอล, ซูมซอกแซก