เศรษฐกิจโลกปีกระต่าย อาจไม่ “อรทัย” อย่างที่คิด

สวัสดีปีใหม่! ต้อนรับท่านผู้อ่านเข้าสู่ “ปีกระต่าย” ขอให้สุขกายสบายใจ อยู่ดีกินดี ไม่เจ็บไม่จนโดยทั่วกันทุกๆ ท่านนะครับ

วันนี้วันที่ 2 มกราคม 2566 ปฏิทินที่ผมเพิ่งได้รับแจกมาหมาดๆ ยังพิมพ์ด้วยตัวสีแดง เพราะเป็นวันหยุดชดเชย เนื่องจากวันปีใหม่ 1 มกราคมที่ผ่านมาไปตรงกับวันอาทิตย์เข้าให้พอดิบพอดี

เข้าใจว่าหลายๆ ท่านคงจะอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากต่างจังหวัด… หลังจากไปท่องเที่ยวไปเยี่ยมญาติไปเยี่ยมบ้านเกิด ได้เวลาต้องกลับมาทำงานในวันพรุ่งนี้…ก็ขอให้เดินทางโดยปลอดภัยนะครับ

เมื่อฉบับส่งท้ายปีเก่า ผมเขียนแสดงความยินดีกับประเทศไทยว่า ที่ภาวะเศรษฐกิจของเราเริ่มดีขึ้น ทำให้ปีพญาเสือเป็นปีแห่งการฟื้นตัวและเป็นปีแห่งความหวังของคนไทย

จากความสำเร็จด้านการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีพอสมควร และสามารถเปิดประเทศด้านท่องเที่ยวได้ก่อนคนอื่น ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวบ้านเราอย่างล้นทะลัก

แต่ผมก็เตือนไว้ด้วยว่า ความสำเร็จในการเพิ่มรายได้ของประเทศต้องมาจากหลายๆ เครื่องยนต์ หรือหลายๆ ด้าน เพราะลำพังจากด้านท่องเที่ยวอย่างเดียว แม้จะช่วยได้เยอะ แต่ก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

จำเป็นที่เราจะต้องทุ่มเทในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การเน้นในด้าน อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเพื่อส่งออกสินค้าที่อยู่ในความต้องการของตลาดโลก รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศในประเทศของเราให้น่าอยู่น่าลงทุน เพื่อจะดึงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาบ้านเรามากยิ่งขึ้น

ควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศซื้อกันเอง ขายกันเอง กินกันเอง เที่ยวกันเองระหว่างคนไทยเราด้วยกันอีกแรงหนึ่ง

เพราะเราไม่ค่อยมั่นใจว่า “เครื่องยนต์” ด้านอื่นๆที่จะต้องพึ่งพา “ตลาดโลก” อย่างมากนั้น จะไปรอดหรือไม่?

เนื่องเพราะปี 2566 หรือ ค.ศ.2023 ที่หมุนเวียนมาถึงแล้วนั้น นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกคาดว่า จะเป็นปีแห่งการ “หดตัว” หรือ “เศรษฐกิจถดถอย” ของโลกอย่างแท้จริง

อย่างเช่นองค์กรด้านการเงินในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก ไอเอ็มเอฟ นั้นถึงขนาดฟันธงไว้เลยว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้จะเหลือแค่ร้อยละ 2.7 เท่านั้น

หดลงจากปี 2022 ที่เพิ่มในอัตราร้อยละ 3.2 อยู่พอสมควร และถ้าเทียบกับปี 2021 ก่อนหน้าโน้นที่เพิ่มทั่วโลกถึงร้อยละ 6.0 ยิ่งจะเห็นได้ชัดว่าลดลงมาก

สหรัฐฯนั้นจะลดลงมากจากร้อยละ 5.7 ปี 2021 เป็นร้อยละ 1.6 ในปี 2022 และจะเหลือแค่ร้อยละ 1.0 ถ้วนๆ ในปีนี้

ประเทศในยุโรปรวมๆ กันยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ จากร้อยละ 5.2 ปี 2021 เป็นร้อยละ 3.1 ในปี 2022 ก็ถือว่าแยะแล้ว แต่ปี 2023 จะลดไปอีกเหลือ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

สำหรับจีน การประมาณการล่าสุดบอกว่า ปี 2022 ที่ผ่านมา ลดเหลือร้อยละ 3.2 จากร้อยละ 8.1 เมื่อปีก่อนหน้า…อาจจะพอกระเตื้องขึ้นได้เป็นร้อยละ 4.4 ในปี 2023 ที่จะมาถึง หลังหันมาใช้นโยบายเปิดประเทศเต็มตัว

สรุปแล้วในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ๆ ของโลกมองว่า เศรษฐกิจโลกปีที่จะถึงนี้จะเหนื่อยกว่าปีที่แล้วแน่ๆ

เพราะฉะนั้นที่เราหวังว่าจะเร่งรัดขับเคลื่อนให้การค้าขาย การส่งออกสินค้าต่างๆของเราดีขึ้น หรือการชักชวนต่างประเทศมาลงทุนบ้านเราให้มากขึ้นผ่านเครื่องมืออื่นๆ ที่กล่าวไว้…คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

แม้แต่เครื่องยนต์ “ด้านท่องเที่ยว” เองก็อาจสะดุดได้ เพราะหากเศรษฐกิจโลกไม่ดีขึ้น นักท่องเที่ยวย่อมน้อยลงเป็นเงาตามตัว

เมื่อฉบับส่งท้ายปีเก่า ผมเขียนอวยพรไว้ว่า ขอให้ปี 2566 คนไทยจงประสบความสำเร็จ ความสมหวัง และขอให้ ปีกระต่าย จงสดใส เสมือน “น้องต่าย อรทัย” นักร้องลูกทุ่งสาวชื่อดัง

แต่พอฟังถ้อยแถลงของไอเอ็มเอฟว่า โลกเราในปีกระต่ายอาจจะไม่ “อรทัย” อย่างที่คิด ก็รู้สึกเป็นห่วงล่วงหน้า ต้องเอามาเขียนบอกกล่าวกันไว้

จะได้เตรียมตัวรับเหตุการณ์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

ผมยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยเราจะโตสวนกระแสโลกได้แน่ๆ ขอเพียงรัฐบาลไทยและนักธุรกิจบางกลุ่มอย่าประมาทเท่านั้นละครับ.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, ไทย, รัฐบาล, นักธุรกิจ, ปีกระต่าย, ปีใหม่, เทศกาล, ซูมซอกแซก