แด่ “พลังประชารัฐ” ด้วย “รัก” และ “เสียดาย”

ผมอ่านข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่าด้วยเรื่อง “ส.ส.ย้ายพรรค” ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้แล้ว ก็รู้สึกใจหายและเสียดายพรรค “พลังประชารัฐ” เป็นที่สุด

เพราะนอกจากจะมีลูกพรรคส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติที่จะตั้งขึ้นใหม่แล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งจำนวนถึง 13 คน ประกาศย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย

แม้ตัวเลขจะยังไม่นิ่งเพราะอาจมีการดูดเข้าดูดออกตามมาอีก แต่ดูแนวโน้มแล้วโอกาสที่พรรคนี้จะกลายเป็นพรรคกลางๆ ไม่ใช่พรรคใหญ่ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นไปได้สูงมาก

เผลอๆ หาก ส.ส.เก่ากลับมาไม่ได้ทั้งหมดอาจจะกลายเป็นพรรค ขนาดกลางค่อนไปทางเล็กเอาด้วยซ้ำไป

เป็นที่มาของความเสียดายของผมที่เคยฝากความหวังไว้กับ พรรคพลังประชารัฐ ด้วยเหตุผลในทางทฤษฎีและความเชื่ออะไรบางอย่างที่เคยมีต่อพรรคนี้อย่างมาก เมื่อ 2-3 ปีก่อน

ผมเคยหวังและฝันว่าหากพรรคนี้เจริญรุ่งเรืองและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ นโยบายสำคัญประการหนึ่งที่ผมเห็นด้วยอย่างมากในอดีต หลายปีมาแล้วอาจจะได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้พอสมควร อาจจะพอจำได้ผมเคยเขียนเล่าไว้แล้วว่า ในระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) นั้น ผมยังทำงานอยู่ที่สภาพัฒน์

ซึ่งท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ในช่วงดังกล่าวอันได้แก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ท่านต้องการให้แผน 8 เป็นแผนที่ระดมความคิดจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ อย่างกว้างขวางที่สุด จึงจัดให้มีการประชุมสัมมนา ทั้งใหญ่และเล็กหลายสิบครั้ง

ต่อมาในการประชุมร่วมกับนักวิชาการและประชาชน ก็มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของยุคนั้น ได้แก่ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้เสนอวิธี ทำงาน หรือ วิธีประสานงาน เพื่อนำแผน 8 ไปสู่การปฏิบัติ โดยให้เรียกว่าการดำเนินการในแบบ “ประชารัฐ”

มีความหมายว่า “รัฐ” กับ “ประชาชน” จะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันในการพัฒนาประเทศอย่างเอาจริงเอาจังในทุกโครงการที่สามารถทำได้

ท่านอาจารย์ยังกล่าวต่อที่ประชุมด้วยว่า คำนี้ไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นถ้อยคำที่อยู่ในเนื้อร้องเพลง ชาติไทย…ท่อนที่ว่า “เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน” มานมนานแล้ว

แต่ก็น่าเสียดายหลังจากประกาศใช้แผนพัฒนาฉบับที่ 8 ใน พ.ศ.2540 ไม่กี่วันท่านเลขาธิการ ดร.สุเมธก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กปร. หรือ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในขณะที่ผมก็ตัดสินใจลาออกมาเขียนหนังสือเต็มตัวที่ไทยรัฐใน พ.ศ.เดียวกันนั้น

ประกอบกับรัฐบาลในยุคนั้นไม่ค่อยเห็นความสำคัญและไม่ใช้แผนพัฒนาเท่าไรนัก คำว่า “ประชารัฐ” จึงหายจ้อยไป

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2558 ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นี่แหละ…มีการเปลี่ยนแปลงทีมงานเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากทีมของ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาเป็นทีมของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ดร.สมคิดท่านไม่ได้มาคนเดียวมากับทีมคู่คิดหลายท่าน โดยเฉพาะทีม “4 กุมาร” ได้แก่ ดร.อุตตม สาวนายน, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์, คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ฯลฯ

ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและวิธีดำเนินงานขนานใหญ่ เช่นมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้แทนเงินสด มีการเตรียมการสำหรับอภิมหาโครงการอีอีซี และมีการประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่เรียกว่าจะไปสู่ยุค 4.0 เป็นครั้งแรก

พร้อมๆ กับนำนโยบาย “ประชารัฐ” หรือการทำงานระหว่างรัฐกับประชาชนมาใช้ทั่วประเทศไทย จนนำไปสู่การจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐ จำกัด ต่างๆ ครบทุกจังหวัดหลังจากนั้น

ผมจำได้ว่าผมไปพบท่าน ดร.สุเมธ ในงานเลี้ยงแต่งงานงานหนึ่ง… ท่านยังกล่าวอย่างดีใจว่า ในที่สุดนโยบาย “ประชารัฐ” ของ “แผน 8” ก็ได้เกิดเสียที

จาก พ.ศ.2540 มาเกิดใน พ.ศ.2559 ประมาณ 19 ปีพอดี ช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับช้าไปต๋อย ว่างั้นเถอะ

เนื้อที่หมดเสียแล้ว คงต้องขออนุญาตต่อวันพรุ่งนี้อีกวันนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, การเมือง,​ พรรคการเมือง, พรรคพลังประชารัฐ, ส.ส.ย้ายพรรค, ซูมซอกแซก