ถอดรหัส “บอลโลก” “โมร็อกโก” โมเดล

ก่อนที่จะเขียนถึงเรื่องราวในประเด็นที่พาดหัวไว้ในวันนี้ ผมขอร่วมแรงร่วมใจกับพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่กำลังสวดมนต์ภาวนาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละคนนับถือ โปรดดลบันดาลประทานพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน นำมาซึ่งความตกใจและห่วงใยยิ่งของปวงชนชาวไทยในขณะนี้

ขอ “พระองค์ภาฯ” ผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของปวงชนชาวไทย จงทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงกลับมาทรงงานหลายๆ ประการอันทรงคุณค่าอย่างยิ่งแก่พสกนิกรในเร็ววันด้วยเทอญ

สำหรับข้อเขียนของผมที่ได้เตรียมไว้วันนี้ ยังคงเป็นเรื่องราวของ “ฟุตบอลโลก 2022” ที่กว่าต้นฉบับของผมจะได้ลงตีพิมพ์นั้น คู่ชิงแชมป์ระหว่าง “อาร์เจนตินา-ฝรั่งเศส” คงจะจบลงแล้ว

ไม่ว่าทีมใดทีมหนึ่งจะเป็นผู้ชนะก็ตาม ผมก็ขออนุญาตที่จะแสดงความยินดีล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้ด้วยก็แล้วกัน

ประเด็นที่จะเขียนถึงนั้นเกี่ยวกับทีม “โมร็อกโก” ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งจนเป็นที่ชื่นชมของชาวโลกดังที่ผมเองก็เคยเขียนแสดงความชื่นชมไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

การกลับไปถอดรหัส “โมร็อกโกโมเดล” ดูว่าทีม “สิงโตแอตลาส” สามารถกรุยทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

จริงๆ แล้ว “สูตรสำเร็จ” สูตรหนึ่งที่โมร็อกโกนำมาใช้ก็คือ การไปขอแรงนักเตะโมร็อกโกที่ไปเล่นฟุตบอลในต่างแดนตามสโมสรต่างๆ ให้กลับมาช่วยประเทศของตนนั่นเอง

แต่ของโมร็อกโกนั้นทำได้ลึกซึ้งกว่าและกว้างขวางกว่า เพราะสามารถดึงนักเตะ “เชื้อชาติ” โมร็อกโกที่ไปเกิดต่างแดน โตต่างแดน และกลายเป็นนักฟุตบอลในประเทศที่พวกเขาไปเกิด…ให้กลับมารับใช้ชาติได้ด้วยจำนวนหนึ่ง

ดังจะเห็นจากบรรดาผู้เล่นของโมร็อกโกกว่าครึ่งทีมที่เป็นเด็กโมร็อกโกที่ไปเกิดและโตต่างแดน รวมทั้งเล่นฟุตบอลในต่างแดนจนมีชื่อเสียงอยู่พอสมควรแล้ว

ยกตัวอย่าง เช่น ฮาคิม ซีเย็ค มิดฟิลด์ตัวรุก หนึ่งในดาราของโมร็อกโกที่เกิดที่ เนเธอร์แลนด์ เล่นบอลในเนเธอร์แลนด์ถึงขั้นได้เล่นในทีม เอเล็กซ์ อันมีชื่อเสียง ก่อนจะโยกมาเล่นให้กับ เชลซี

รวมถึง อัชราฟ ฮาคิมี ที่เกิดในสเปนโตในสเปน เล่นบอลในสเปนก่อนย้ายไปเล่นกับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทีมดังของฝรั่งเศส…หรืออย่าง โซฟียาน อัมราบัต ที่โดดเด่นมากอีกคนก็เกิดที่เนเธอร์แลนด์โตที่เนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันไปเล่นบอลให้เวโรนา ฯลฯ

คำถามจึงเกิดขึ้นว่าทำไมจึงมีเด็กโมร็อกโกในต่างแดนให้เลือกมากมาย เช่นนี้? ซึ่งคำตอบก็ต้องย้อนไปถึงช่วงเวลาอันยาวนานว่าด้วยการอพยพเข้าสู่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการไปเป็นแรงงานรับจ้างในยุโรปนั่นเอง

มีหลักฐานว่าคนโมร็อกโกเริ่มหลั่งไหลอพยพจำนวนมหาศาลจากประเทศตนไปทำงานรับจ้างในยุโรปต่างๆ ตั้งแต่ต้น ค.ศ.1960 หรือ พ.ศ.2503 เป็นต้นมา หรือเมื่อประมาณ 60 ปีเศษๆ ที่แล้ว

จนทุกวันนี้ประมาณการไว้ว่ามีคนโมร็อกโกไปอยู่ที่ฝรั่งเศสกว่า 1 ล้านคน ไปอยู่สเปนกว่า 760,000 คน ไปอยู่ อิตาลี กว่า 400,000 คน ไปอยู่ เนเธอร์แลนด์ กว่า 360,000 คน และไปอยู่เบลเยียมประมาณ 300,000 คน ไปรวมตัวเป็นชุมชนใหญ่อยู่ในแต่ละประเทศที่ว่านี้

เด็กที่เกิดที่โน่นต่างก็เติบโตไปพร้อมๆ กับเด็กของประเทศนั้นๆ ชอบเล่นกีฬาเหมือนเด็กในประเทศนั้น จึงมีเด็กโมร็อกโกจำนวนมากที่ได้เล่นบอลอาชีพของประเทศต่างๆ

แม้แต่โค้ช วะลิด เรกรากุย ก็เป็นเด็กลูกชาวโมร็อกโกอพยพในฝรั่งเศส เติบโตมาเล่นบอลให้กับหลายๆสโมสรของฝรั่งเศส…ก่อนจะกลับไปเตะให้ทีมชาติโมร็อกโกถึง 45 ครั้ง และกลับไปเป็นโค้ชคนปัจจุบัน

ไทยเราเองก็เคยใช้สูตรไปตามหาเด็กไทยที่เกิดเมืองนอก และเล่นบอลเมืองนอก ให้กลับมาช่วยชาติได้หลายคน

แต่เผอิญของเรายังไม่กล้าแกร่งเท่าของโมร็อกโก เพราะเล่นฟุตบอลสโมสรเล็กๆ เท่านั้น…ทีมฟุตบอลไทย หรือทีม “ช้างศึก” ของเราจึงยังลุ่มๆ ดอนๆ อย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้

ก็อย่าไปคิดอะไรมากเลยครับ ขอให้สู้ต่อไปหาโมเดลใหม่ๆ กันต่อไป… ฟุตบอลโลกน่าจะยังแข่งกันไปอีกนาน อย่าเพิ่งท้อแท้นะครับ มาดามแป้ง!

แฮ่ม! ถือโอกาสฝากความหวังไว้กับมาดามแป้งซะเลย เพราะ ฝากมาแล้วหลายคน ปรากฏว่าไปไม่รอดทั้งนั้น รวมทั้ง “คนนั้น” ด้วย!

“ซูม”

ข่าว, บอลโลก, โมร็อกโก, ฟุตบอลโลก, ฟุตบอล, บอลไทย, ช้างศึก, ซูมซอกแซก