ส่อง “เศรษฐกิจโลก” วันนี้ ยังมีทั้ง “ข่าวร้าย” และ “ข่าวดี”

เมื่อวันพุธตามเวลาสหรัฐฯ ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานของเมืองลุงแซม ที่ทำหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI

เครื่องชี้วัดภาวะเงินเฟ้อที่สำคัญยิ่งได้ประกาศตัวเลขของเดือนตุลาคมออกมาเรียบร้อย กลายเป็นข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งของประเทศ

เหตุเพราะตัวเลขดัชนีดังกล่าวนี้ แม้จะเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึง 7.7 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเทียบเป็นรายปีปรากฏว่าออกมาต่ำกว่าร้อยละ 7.9 ที่นักวิเคราะห์คาดเอาไว้

ที่สำคัญเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ คือเดือนกันยายน ซึ่งอยู่ในอัตราร้อยละ 8.2 นั้น เห็นได้ชัดเจนเลยว่า CPI ของเดือนตุลาคม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อไปดูเฉพาะตัวเลข CPI มาตรฐาน ซึ่งจะไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานไว้ด้วยนั้น พบว่าตัวเลขของเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นเพียงร้อยละ 6.3 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมายไว้ว่าจะเป็น 6.5 และขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับตัวเลขของเดือนกันยายน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.6 แล้ว…จะเห็นว่าตัวเลขของเดือนตุลาคมชะลอลงอย่างชัดเจน

ก็ต้องถือว่าเป็น “ข่าวดี” เพราะแสดงให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯดำเนินการมาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะมาตรการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ค่อนข้างสูง เพื่อลดความแรงของเงินเฟ้อนั้น เริ่มให้ผลขึ้นแล้ว

ปรากฏว่าตลาดหุ้นที่สหรัฐฯออกมาขานรับกันยกใหญ่ โดยเฉพาะในวันที่มีการเผยแพร่ดัชนีที่ว่านี้…ดาวโจนส์ ขึ้นไปถึง 1,201 จุด ปิดที่ 37,715 จุด, เอส แอนด์ พี ขึ้นไป 208 จุด ปิดที่ 3,956 จุด และ แนสแด็ก หุ้นไฮเทคก็ขึ้นถึง 761 จุด ปิดที่ 11,114 จุด

เหตุที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กระดี๊กระด๊ากันยกใหญ่นั้น เพราะมองข้ามช็อตไปข้างหน้าว่า เมื่อมาตรการสกัดเงินเฟ้อที่ผ่านมาได้ผลเช่นนี้…ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะผ่อนมาตรการลง โดยอาจขึ้นดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 0.50 ในเดือนธันวาคม มิใช่ขึ้นแรงถึงร้อยละ 0.75 อย่างที่ตั้งเป้าไว้

โดยลืมไปว่าทางธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยเฉพาะท่านประธาน เจอโรม พาวเวลล์ ท่านพูดแล้วพูดอีกว่า ธนาคารกลางจะไม่รีบร้อน จะไม่รีบผ่อน หรือรีบปรับนโยบายลงอย่างรวดเร็วเหมือนที่เคยเผลอทำไว้ในอดีต

จะต้องรอให้แน่ใจว่าสามารถจัดการเงินเฟ้อได้อยู่หมัดแล้ว… นั่นแหละจึงจะยอมผ่อนคลายมาตรการลงบ้าง

พูดเหมือนดักคอไว้ว่าไม่ว่าเงินเฟ้อจะลดหรือไม่ลด ยังไงเดือนธันวาคม จะต้องเหยียบเบรกแรง (ด้วยอัตราร้อยละ 0.75) กันอีกแน่ๆ…ซึ่งคงจะต้องติดตามกันต่อไปว่า การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯจะเป็นอย่างไร?

แต่ไม่ว่าอย่างไร ต้องถือว่าการที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงเป็นข่าวดี… แสดงว่ามาตรการหรือยารักษาโรคทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาโรคเงินเฟ้อยังใช้ได้อยู่…

อย่างไรก็ตามแม้จะมีข่าวดีเรื่อง “เงินเฟ้อ” สหรัฐฯลด แต่ก็มี “ข่าวร้าย” เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ เมื่อสอดส่ายสายตาไปยังประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรป

เมื่อวานนี้เอง สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ซึ่งเจอปัญหาเศรษฐกิจหนักมากมาโดยตลอด ออกมายอมรับแล้วว่า เศรษฐกิจของอังกฤษหดตัวลง ราวๆ 0.2 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน หรือไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีคำเตือนจากธนาคารกลางของอังกฤษว่า การหดตัวครั้งนี้อาจยาวนานกว่าทุกๆ ครั้งนับตั้งแต่ปี 1940 เป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน ณ นาทีนี้ ประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ยังคงเป็นบวกอยู่ โดยเฉพาะรายงานไตรมาส 3 ชี้ให้เห็นว่า จีดีพีของทั้ง 3 ประเทศยังเป็นบวกอย่างชัดเจน

แต่จากการที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของยุโรปยังสูงมากถึงร้อยละ 8.5 ซึ่งแต่ละประเทศก็เริ่มเหยียบเบรกกันมาพอสมควรแล้ว ประกอบกับผลกระทบจากอังกฤษที่ลดลงก่อน น่าจะตามไปยังยุโรปอื่นๆ ในไม่ช้านี้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของยุโรปยังมั่นใจว่า เศรษฐกิจยุโรปไม่น่าจะหดตัวลง…ซึ่งก็คงต้องติดตามต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

ครับจากการส่องเศรษฐกิจโลกอย่างคร่าวๆ ในช่วงนี้ จึงพอจะสรุปได้ว่า มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย…ดังที่ผมพาดหัวคอลัมน์ไว้

ตรงข้ามกับเศรษฐกิจของไทยเรา…มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาแถลงให้กำลังใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ของเราน่าจะดีขึ้น

ผมจดตัวเลขต่างๆ เอาไว้แล้ว พรุ่งนี้เราลองมาดูกันนะครับที่ว่าของเราจะดีขึ้นนั้น จะดีขึ้นแค่ไหนและอย่างไร?

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจโลก, เงินเฟ้อ, ตลาดหุ้น, ซูมซอกแซก