ตรวจ “แนวรบ” เศรษฐกิจโลก ใครจะ “พ่ายแพ้” รายต่อไป?

ในท่ามกลางพายุเศรษฐกิจที่กำลังกระหน่ำเข้าใส่โลกเราจนทำให้เหนื่อยไปตามๆ กันในขณะนี้นั้น มีคนตั้งคำถามว่า จะมีประเทศไหนที่อยู่ในอาการร่อแร่มีสิทธิ์จะล้มครืนแบบศรีลังกาอีกหรือไม่?

ซึ่งก็มีคำตอบจากผู้สันทัดกรณีว่า ยังไงๆ ก็ต้องมีแน่นอน เพราะหากใช้ “เงินสำรองต่างประเทศ” เป็นหลักเกณฑ์ในการวัด…จะพบว่าหลายๆ ประเทศอยู่ในอาการล่อแหลมมาก

คิวต่อไปน่าจะอยู่ในเอเชียเราอีกประเทศและหากเปิดรับแทงแบบแทงฟุตบอลในอังกฤษประเทศที่มีอัตราต่อรองสูงสุดว่ามีสิทธิ์ล้มน่าจะได้แก่ ปากีสถาน นั่นเอง

จากตัวเลขที่มีการเผยแพร่ปากีสถานมีเงินสำรองเหลือราวๆ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สามารถใช้ซื้อสินค้าต่างประเทศสารพัดตามอัตราเฉลี่ยที่ซื้ออยู่ในขณะนี้ได้อีก 1 เดือนเศษๆเท่านั้น

มีรายงานว่าปากีสถานไปขอความช่วยเหลือจาก IMF แล้วได้เงินยืมมา 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่ออายุได้อีกหน่อยหนึ่ง

แต่ปากีสถานก็เกิดภาวะ “โรคซํ้ากรรมซัด” เจอปัญหาอุทกภัยนํ้าท่วมอย่างหนัก ประชาชนเกิดความทุกข์ยากอย่างกว้างขวาง ในขณะที่การช่วยเหลือจากรัฐบาลซึ่งก็ย่อบแย่บอยู่แล้ว เป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ทันท่วงที…จึงกลายเป็นเต็ง 1 ที่จะล้มเป็นรายต่อไปด้วยเหตุฉะนี้

นักวิเคราะห์มองต่อไปว่า จากนั้นอาจได้แก่ เมียนมา และ ลาว ซึ่งเงินสำรองของประเทศน้อยมาก…แถมทั้งเงินจ๊าดและเงินกีบก็อ่อนค่าลงอย่างน่าใจหายไปเรื่อยๆ

ถัดไปหลายๆ คนกำลังจับตาดู อียิปต์ ซึ่งต้องลดค่าเงินไปหลายครั้ง และยังมีทีท่าว่าจะอ่อนลงไปอีกอย่างต่อเนื่อง…รวมทั้งเงินสำรองที่มีอยู่ก็สามารถใช้ซื้อสินค้าต่างประเทศได้ 3 เดือนเศษๆเท่านั้น

จากนั้นก็คือ เอลซัลวาดอร์ ประเทศแรกที่ยอมให้นำเงินคริปโตมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และผู้นำหัวทันสมัยก็พยายามผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางคริปโต หรือเมืองบิทคอยน์ของโลกใช้เงินสำรองของประเทศทยอยซื้อสะสมมาเป็นเงินคงคลังของประเทศอยู่ตลอด ดังนั้นเมื่อคริปโตผันผวนร่วงลงในช่วงหลังเอลซัลวาดอร์ก็ใกล้พังตามไปด้วย

หนี้ต่างประเทศล่าสุดกระฉูดไปถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญ และสำนักข่าวบางสำนักใช้คำว่า “จ่อล้มละลาย” เผลอๆอาจจะล้มก่อนประเทศในเอเชียที่เอ่ยถึงตอนแรกก็เป็นได้

นอกจากเอลซัลวาดอร์แล้วประเทศที่น่าจับตาอื่นๆก็มี อาร์เจนตินา ที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดขึ้นไป 70 เปอร์เซ็นต์ และค่าเงินก็อ่อนลง

อีกประเทศที่น่าจับตา ได้แก่ ชิลี ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นเรื่อยๆ และค่าของเงินก็อ่อนลงเรื่อยๆเช่นกัน

ชิลีเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่ประมาท และเป็น 1 ในละตินที่มีระบบบริหาร จัดการเรื่องการเงินอย่างมีวินัย แต่ล่าสุดก็มีปัญหาจนได้

นี่ยังไม่ได้รวมถึงประเทศที่มีเงินทุนสำรองอ่อนยวบ ใช้ซื้อสินค้าได้ไม่กี่เดือน อย่างฮังการี (2 เดือนเศษ), กานา (ประมาณ 3-4 เดือน), สาธารณรัฐเช็ก (7 เดือน) ฯลฯ

ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ณ นาทีนี้ก็ยังท่วมท้นไปด้วยปัญหา เพราะภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูง และแม้จะฉีดยาไปหลายๆ เข็มก็ยังไม่ค่อยลดง่ายๆ อย่างสหรัฐฯและยุโรปต่างๆ

ธนาคารกลางสหรัฐฯออกมายืนยันแล้วว่าจะต้องใช้ยาแรงต่อ และเมื่อวานนี้หลายๆ ประเทศในยุโรปก็ยืนยันว่า ต้องใช้ยาแรงเช่นกัน

ในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่มีแววว่าจะยุติลง การบอยคอตซึ่งทำให้ราคาพลังงานแพงเกินเหตุก็ยังไม่เลิกลา

เศรษฐกิจโลกน่าจะยังเหนื่อยและน่าจะยังมีอีกหลายประเทศล้มครืนตามที่มีการคาดหมายไว้

ประเทศไทยของเราดูเหมือนจะไม่อยู่ในความคาดหมายว่าจะล้มง่ายๆ แต่ถ้านักการเมืองไทยยังเล่นงานกันแบบไม่ลืมหูลืมตาอย่างที่เล่นกันทุกวันนี้

ไม่หันหน้าเข้าหากัน ไม่หยิบปัญหามาดูกันอย่างละเอียดและช่วยกันหาทางออกและวางแนวทางป้องกันไว้ ฯลฯ ใครจะไปรู้วันหนึ่งเราอาจต้านพายุลูกนี้ไม่อยู่ และจะรู้สึกเสียใจในภายหลัง

อย่าประมาทเป็นอันขาดนะครับ เพราะนี่คือพายุเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่สุดเท่าที่คนแก่อายุเกิน 80 ปีอย่างผมเคยประสบมา.

“ซูม”

ข่าว,​ เศรฐกิจ, โลก, ศรีลังกา, ซูมซอกแซก