ยืนยันจาก “สภาพัฒน์” เศรษฐกิจไทยเริ่ม “ฟื้นตัว”

ผมเพิ่งจะเขียนไปเมื่อวันจันทร์ที่แล้วว่าอาจจะมีข่าวดีทางเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นก็ได้ เมื่อตัวเลขข้อมูลต่างๆล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯน่าจะผ่านจุด “พีก” หรือจุดสูงสุดไปแล้ว

รอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ฉีดยาอีกสักเข็ม 2 เข็ม ปัญหาเงินเฟ้อ อาจผ่อนคลายลงและแม้ช่วงแรกๆ อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอเล็กน้อย จากมาตรการเหยียบเบรกของธนาคารกลางสหรัฐฯ

แต่เมื่อหยุดเงินเฟ้อในภาพรวมได้ ก็ถือว่าสหรัฐฯสามารถแก้ปัญหาใหญ่ที่สุดเอาไว้ได้ เพราะหลังจากนั้นการคลายเบรกเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นฟู โดยอาศัยจังหวะที่เหมาะสมจะทำได้ง่ายขึ้น

ต่อมาอีกวันได้อ่านเฟซบุ๊กของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ท่านกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งช่วงนี้การวิเคราะห์เศรษฐกิจ ทั้งของโลกและของไทยโดยท่าน ดร. มีแฟนๆติดตามจำนวนมาก (รวมทั้งผมด้วย) ทำให้ทราบว่าในทัศนะของ ดร.กอบศักดิ์นั้นท่านยังเตือนว่า อย่าเพิ่งดีใจไปก่อนกาลเวลา

ท่านย้ำว่ายังมีรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนจุดพลิกผันที่จะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะศึกอันใหญ่หลวงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการแก้เงินเฟ้อของประเทศเขายังไม่จบง่ายๆ

ผมก็ขอนำมาฝากท่านผู้อ่านว่าอย่าเพิ่งดีใจมากนัก และถ้าเป็นไปได้โปรดติดตามรายงานของ ดร.กอบศักดิ์ 1 ใน 4 กุมารที่ล้างมือในอ่างทองคำทางการเมืองอย่างเด็ดขาด มาเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารของธนาคาร “บัวหลวง” เต็มตัวในขณะนี้

พอดีเมื่อวานนี้ (จันทร์ที่ 15 ส.ค.) เช่นกัน ท่านเลขาธิการสภาพัฒนาฯ ดนุชา พิชยนันท์ ก็ออกมาแถลงแก่ผู้สื่อข่าวถึงภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พร้อมกับการคาดหมายไปจนถึงสิ้นปีนี้ว่า เศรษฐกิจไทยเราจะเป็นฉันใดบ้าง

รายละเอียดหน้าเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ลงไว้แล้วหลายฉบับ แต่สำหรับท่านที่สนใจจะอ่านแบบ “ละเอียดจริงๆ” มีข้อมูล มีตารางประกอบพรั่งพร้อมโปรดเข้าไปที่เว็บไซต์ www.nesdc.go.th ของสภาพัฒน์ ได้เลยครับ…เขาลงไว้ให้อ่านแบบครบถ้วน

ในภาพรวมท่านบอกว่า ไตรมาส 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 และเมื่อรวมกันเป็นรายครึ่งปีตัวเลขก็จะออกมาที่ร้อยละ 2.4

แม้ว่าด้านการลงทุนของภาครัฐ ภาคเอกชน จะลดน้อยลงบ้าง แต่การใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ในขณะที่การส่งออกก็ขยายตัว แม้จะลดลงนิดหน่อย แต่รวมกันตลอดครึ่งปีก็ถือว่าเพิ่มขึ้น

เมื่อรวมกับการท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญหลังการปลดล็อก ประเทศแล้ว ตัวเลขจีดีพีครึ่งปีแรกของไทย จึงขยายตัวได้ถึงร้อยละ 2.4 หรือหากมองเฉพาะไตรมาส 2 ก็สูงถึงร้อยละ 2.5 ดังกล่าว

ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์กับทีมงานของท่านจึงปรับการพยากรณ์เสียใหม่ คาดว่าตลอดปี 2565 นี้ น่าจะขยายตัวได้อยู่ในช่วงร้อยละ 2.7-3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกที่ก็น่าจะขยายตัวต่อในอัตราที่น่าพอใจ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ควรจับตาดูปัจจัยต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของประเทศไทยอย่างใกล้ชิดควบคู่ไปด้วย รวมทั้งสิ้น 8 ประการ

ส่วนใหญ่เป็นข้อระวังทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งค่อนข้างเป็นวิชาการที่ผมจะขอผ่านไปมอบให้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการไประมัดระวังกันเอง

ที่ผมเห็นว่าท่านน่าจะตกหล่นไป 1 ข้อ ได้แก่ คำเตือนข้อที่ 9 ว่าด้วยเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองของบ้านเราที่น่าห่วงอย่างยิ่ง

ท่านเลขาธิการมิได้เตือนเรื่องการเมืองไทยไม่ว่าข้อขัดแย้งเรื่อง “บิ๊กตู่” จะอยู่หรือไปในกรณี “8 ปี” รวมทั้งความปวดหัวสารพัดสารเพของการเมืองไทยในขณะนี้

อาจเป็นเพราะท่านเป็นข้าราชการประจำไม่อยากจะพูดอะไรให้ เกินเลยหน้าที่ก็เป็นไปได้

ผมก็ขอพูดแทนเสียก็แล้วกันว่า ความเป็นไปได้ที่ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 2.7-3.2 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ของปีนี้อยู่ที่ “สถานการณ์การเมือง” ของเราด้วยครับ

ถ้าวุ่นกันหนักเกินไปก็น่าเสียดายอาจจะมีผลกระทบทำให้การเติบโตชะลอตัวลดลงจากที่คาดหมายไม่มากก็น้อย…โดยเฉพาะหากมีการเล่นกันเลยเถิดจนรัฐบาลคุมอะไรไม่อยู่ขึ้นมาละก็.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, ไทย, ฟื้นตัว, รัฐบาล, การเมือง, ซูมซอกแซก