โรงเรียน “ไทยรัฐ” อาสา รื้อฟื้นวิชา “ประวัติศาสตร์”

ประมาณเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อนับถึงวันนี้ก็ปีกว่าๆ แล้ว ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง ให้สัมภาษณ์ไว้ หลังการประชุม ครม. ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยให้ดึงดูดใจเด็กไทยมากขึ้น

สืบเนื่องในระหว่างการประชุม ครม.ครั้งนั้น นายกรัฐมนตรี บิ๊กตู่ได้กล่าวกับที่ประชุมถึงการจัดทำสื่อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เพิ่งนำออกมาเผยแพร่ว่าน่าสนใจมาก

มีการนำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอที่ทันสมัย เนื้อหาเข้าใจง่าย ชวนให้ติดตามและสามารถจดจำประเด็นหลักๆ ได้แทบจะในทันที

บิ๊กตู่จึงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลองไปเปิดของเขาดู พร้อมกับหาทางปรับปรุงการนำเสนอวิชาประวัติศาสตร์ไทยในลักษณะดังกล่าวบ้าง

แน่นอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรงเผงที่สุดก็น่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีหน้าที่ในการอนุรักษ์และพิทักษ์รักษา ตลอดจนเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประเทศไทยนั่นเอง

ตามมาด้วยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความรู้แก่เด็กไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะรวมศาสตร์วิชาทุกแขนงรวมทั้งวิชาประวัติศาสตร์ไทยด้วย

ต่อมาอีกระยะหนึ่ง ท่านรัฐมนตรีศึกษาธิการก็ออกมาแถลงข่าวอีกครั้งว่า กระทรวงร่วมกับภาครัฐภาคเอกชนจะปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เสียใหม่ ไม่ใช่เรียบแบบท่องๆๆ แล้วก็จำๆๆ ตามมาด้วยการออกข้อสอบอย่างที่ผ่านมาในอดีต

แต่จะสอนให้นักเรียนต้องคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยจะนำร่องในโรงเรียน 349 แห่งก่อน จากนั้นจะดำเนินการให้ครอบคลุมในโรงเรียนทุกแห่งต่อไป

ครับ! ที่ผมลำดับเหตุการณ์เรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียด ก็เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพและนึกออกว่า กระทรวงศึกษาธิการยุคนี้ให้ความสำคัญแก่วิชาประวัติศาสตร์อย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะการดำเนินงานทดลองหรือทดสอบหลักสูตรในโรงเรียนนำร่องต่างๆ 349 โรงเรียนตามที่ข่าวแจ้งไว้ ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะจากการค้นหาใน “กูเกิล” ของผมยังไม่พบรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมจากนี้

แต่ผมก็เข้าใจดีเพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเราต้องเผชิญกับการระบาดหนักของโควิด-19 จนต้องปิดโรงเรียนและหันมาใช้วิธีการเรียนการสอนทางออนไลน์ เพิ่งจะกลับมาเปิดโรงเรียนใหม่เมื่อไม่กี่เดือนนี่เอง

จะหวังให้เรื่องนี้มีความก้าวหน้ามากนักคงเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ และรู้สึกน้อยอกน้อยใจจนถึงขั้นออกมาเขียนบ่นหลายครั้งในคอลัมน์นี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการในช่วงหลังๆ ให้ความสำคัญแก่การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์น้อยลงไปมาก

เมื่อทราบว่าท่านรัฐมนตรี ตรีนุช หันมาสนใจในเรื่องนี้ก็รู้สึกยินดี และถูกใจเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันก็รู้สึกดีใจมากขึ้นไปอีกเมื่อมาได้ข่าวจาก มูลนิธิไทยรัฐ ซึ่งดูแล โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่ง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจะจัดงานสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนประจำปีนี้ ในวันนี้ (8 ส.ค.) ที่ โรงแรมนภาลัย อำเภอเมืองอุดรธานี นั้นจะมุ่งไปที่การแลกเปลี่ยนความคิดและค้นหาวิธีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยให้น่าสนใจเป็นประเด็นสำคัญ

มูลนิธิไทยรัฐตั้งหัวข้อการประชุม ไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม” และได้เจาะจงเชิญท่านรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม ซึ่งนอกจากจะเป็นนักกฎหมายลือนามแล้ว โดยส่วนตัวท่านยังเป็นนักประวัติศาสตร์ตัวยง ไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานในเวลา 08.30 น.

ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่า ท่านรองวิษณุได้เขียนนวนิยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไว้หลายเรื่องที่โด่งดังมาก ได้แก่ “ข้ามสมุทร” ที่ท่านสร้างตัวละครย้อนอดีตไปสู่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ผมเคยวิจารณ์ไว้ว่า สนุกไม่แพ้ “บุพเพสันนิวาส” ของ “รอมแพง”

คาดว่าในปาฐกถาเปิดประชุมสัมมนาวันนี้ ดร.วิษณุคงจะกล่าวถึงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในทรรศนะของท่าน อันจะเป็นประโยชน์แก่คณะครูบาอาจารย์ของไทยรัฐวิทยาสืบไป

นอกจากนี้ท่านรัฐมนตรี ตรีนุช เทียนทอง ก็จะไปบรรยายพิเศษเกี่ยวกับโครงการสอนประวัติศาสตร์แนวใหม่ของท่านด้วยในเวลา 10.00 น. ของวันนี้เช่นกัน

ขอเชิญติดตามปาฐกถาแบบไลฟ์สดของทั้ง 2 ท่าน ผ่านเว็บไซต์ www.thairath.co.th ของไทยรัฐ และ www.obec.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เลยนะครับเช้านี้.

“ซูม”

ข่าว, การศึกษา, ไทย, โรงเรียน, ไทยรัฐวิทยา, วิชา, ประวัติศาสตร์, ซูมซอกแซก