บันทึก “เที่ยว” วันหยุด “ของดี” ที่ “คลองหลวง”

ในช่วงวันหยุด “เฉลิมพระชนมพรรษา” และวันหยุดพิเศษที่รัฐบาลนี้จัดเพิ่มเติมให้ ทำให้ประเทศไทยเรามีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 4 วันที่ผ่านมานั้น ผมและครอบครัวตัดสินใจปักหลักอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่แหละครับ

แต่ก็วางโปรแกรมเอาไว้แล้วว่าจะพาหลานๆ อายุ 8 ขวบคนหนึ่ง 4 ขวบอีกคนหนึ่งไปตะลุยเที่ยวพิพิธภัณฑ์ “ทันสมัย” ต่างๆ ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

อันได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ…ซึ่งอยู่ในความดูแลของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดของ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ในปัจจุบัน

ว่าไปแล้วผมเคยไปมาแล้วเกือบทุกแห่งกับหลานสาวคนโตเมื่อ 4-5 ปีก่อน จำได้ว่าเก็บมาเขียน “ซอกแซก” ไว้อย่างครบถ้วน ดังนั้นในการไปครั้งนี้…ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดมากนักนะครับ

นอกจากจะกล่าวรวมๆ ว่า เกือบทุกพิพิธภัณฑ์ยังคงใช้การได้ดี เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในด้านทันสมัย เช่น ธรรมชาติวิทยา และวิทยาศาสตร์ต่างๆ เอาไว้อย่างเกือบสมบูรณ์ครบถ้วน “น้องๆ” พิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่ผมเคยดูเคยชมที่ต่างประเทศและเคยเขียนถึงแล้วหลายๆ ครั้งเลยทีเดียว

ที่ต้องใช้คำว่า “น้องๆ” ก็เพราะเรายังห่างไกลจากของเขามาก แต่อย่างน้อยการมีพิพิธภัณฑ์ในลักษณะนี้ไว้ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาที่ดี สร้างความตื่นตาตื่นใจ และตื่นเต้นให้แก่เด็กไทย เพื่อจุดประกายให้พวกเขาฝันต่อ และไปคิดอ่านหาความรู้ต่อเมื่อเติบใหญ่ในภายภาคหน้า

ที่สำคัญ ในวันที่ผมกับครอบครัวไปดูชมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีครอบครัวหนุ่มสาวรุ่นใหม่ประเภทลูกคนเดียวบ้าง 2 คนบ้าง…จูงลูกๆ มาเที่ยวชมทุกพิพิธภัณฑ์แน่นไปหมดทุกแห่ง…เห็นแล้วก็ปลื้มอกปลื้มใจ เกิดความหวังว่าประเทศ ไทยของเราน่าจะเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต เมื่อเด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้น

จากสถิติล่าสุดที่บอกว่าประเทศไทยของเรามีเด็กเกิดใหม่แค่ปีละ 540,000 กว่าคนเท่านั้น และมีแนวโน้มลดลงด้วย…เห็นตัวเลขแล้วก็ใจหาย เกรงว่าในอนาคต “กำลังคน” หรือ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่จะมา แบกรับภาระของประเทศชาติต่อจากรุ่นเราจะน้อยลงทุกขณะ

หนทางเดียวที่จะช่วยให้ประเทศไทยของเราเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง จึงอยู่ที่ “คุณภาพ” ของกำลังคนรุ่นหลัง ซึ่งแม้จะมี “จำนวนน้อย” แต่ก็จะต้องมี “คุณภาพ” ที่ดีขึ้น

เมื่อผมเห็นพ่อแม่รุ่นใหม่ชักชวนลูกๆ มาดูชมพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ จึงเกิดความปีติขึ้นดังได้กล่าวไว้แล้ว

เพราะนี่คือการจุดประกาย จุดความตื่นตัวแก่เด็กๆ ไทยที่จะเติบใหญ่ต่อไปในวันข้างหน้า ให้มีความหวังและมีความฝันที่จะเป็นบุคลากร “คุณภาพ” ในด้านทันสมัยต่างๆ โดยตรง

ถ้าผมจะรู้สึกห่วงๆ อยู่บ้าง ก็ตรงที่พิพิธภัณฑ์ทันสมัยเกือบทุกแห่งมาอยู่เสียไกลถึงคลองหลวงบ้าง ถึงรังสิตบ้าง จะมาจะไปสักครั้งถ้าไม่มีรถส่วนตัวก็คงไม่สะดวก

แล้วเด็กๆ จากครอบครัวรายได้น้อย หรือพ่อแม่ยากจนจะมีโอกาสมาดูมาศึกษาได้อย่างไร?

โอกาสที่จะใช้พิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ยากจนทั้งหลายไปหาช่องทางพัฒนาตัวเอง เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการที่จะเขยิบฐานะขยับรายได้ของพวกเขาให้หลุดพ้นจากความยากจนในอนาคต…จะเป็นไปได้แค่ไหน?

ฝากกระทรวงศึกษาธิการ ฝากคุณครู ฝากผู้บริหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐช่วยดูแลในประเด็นนี้ไว้ด้วยก็แล้วกัน

อย่าให้ของดีที่ว่านี้ “เข้าถึง” ได้เฉพาะเด็กไทยที่ครอบครัวพอมีฐานะเท่านั้นนะครับ ขอให้นึกถึงเด็กไทยอีกจำนวนมากที่พ่อแม่ไม่มีรถยนต์ใช้เอาไว้ด้วย…โดยเฉพาะเด็กๆ ยากจนทั้งในเมืองและชนบทห่างไกล…ว่าทำอย่างไรจะให้พวกเขามีโอกาส “เข้าถึง” เช่นเดียวกัน

สำหรับพวกเราชาว สว.ซึ่งผ่าน “วัย” ที่ควรจะรับรู้โน่นนี่ไปแล้ว (เพราะรู้ไปก็ไลฟ์บอยเปล่าประโยชน์แล้ว) นั้น จะไปดูหรือไม่ไปก็ไม่ว่ากัน…แต่ถ้าจะไปสักครั้งก็ไม่เลวนะครับ

เผื่อจะช่วยให้พวกเรา “หลับสบาย” หมดกังวล หมดความห่วงใย…เมื่อทราบว่าประเทศของเราได้มีการเตรียมการเพื่อเด็กๆ รุ่นใหม่ที่จะมาเป็นอนาคตของชาติเอาไว้ดีพอสมควร

ที่คลอง 5 คลองหลวงปทุมธานีใกล้ๆ นี้เองครับ.

“ซูม”

ข่าว, พิพิธภัณฑ์, วิทยาศาสตร์, คลองหลวง, ปทุมธานี, ครอบครัว, ซูมซอกแซก