“ดอกลำดวน” ในวรรณคดี 500 ปีที่คนไทย “ดอมดม”?

ซอกแซกสัปดาห์นี้สืบเนื่องมาจาก “ควันหลง” กรณี “ดราม่าข้ามชาติ” เรื่อง “ดอกลำดวน” ระหว่างชาวเน็ตกัมพูชากับชาวเน็ตไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

หลังจากภาพยนตร์ เรื่อง “บุพเพสันนิวาส 2” ของไทยเผยแพร่โปสเตอร์โฆษณา มีภาพพระเอกโป๊ปกับ นางเอกเบลล่าถือ “ดอกลำดวน” และมีข้อความ “ดอกลำดวน แทนความรักที่ยั่งยืน” อยู่ด้วย

เป็นเหตุให้ชาวเน็ตเขมรทักท้วงมาทำนองว่า เราเอาดอกไม้ประจำชาติของเขาไปใช้ แต่มิได้ให้เครดิต…คราวหน้ากรุณาอย่าลืม

ส่งผลให้ชาวเน็ตไทยเข้าไปตอบโต้ โต้ไปโต้มาจนร้อนฉี่ไปทั้งเว็บ (ข่าวว่ารวมแล้วกว่า 16,000 คอมเมนต์) ด้วยประการฉะนั้น

จริงๆ เรื่องราวดูเหมือนจะเงียบไปแล้วละ ในขณะที่ภาพยนตร์ก็ออกฉายแล้ว

แต่เนื่องจากหัวหน้าทีมซอกแซกที่เขียนถึงเรื่องนี้ไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีข้อมูลเกี่ยวกับ “ดอกลำดวน” กับคนไทยและวัฒนธรรมไทย หลงเหลืออยู่อีกหลายแง่มุม เพราะวานน้องๆ ไปค้นมาให้ แต่ใช้แค่นิดเดียวเท่านั้น จึงขออนุญาตเอามาขยายต่อในวันนี้

โดยไม่มีความตั้งใจที่จะถกเถียงหรือโต้แย้งว่าใครเป็นเจ้าของ “ดอกลำดวน” แต่ประการใด เพียงแต่เพื่อยืนยันว่าดอกไม้นี้ขึ้นอยู่ในภูมิภาคนี้ และในประเทศไทยเราด้วยมาเนิ่นนานแล้วเช่นกัน จนคนไทยรู้จักอย่างดีและได้พรรณนาความถึงดอกลำดวนเราไว้ใน “วรรณคดี” และกาพย์กลอนต่างๆ มานับเป็นร้อยๆ ปีแล้ว

ต้องขอขอบคุณนิตยสาร “หมอชาวบ้าน” ที่ได้นำข้อเขียนของคุณ “เดชา ศิริภัทร” ในหัวข้อ “ลำดวน สัญลักษณ์แห่งไม้ใกล้ฝั่ง” มาลงตีพิมพ์ในฉบับที่ 311 เดือนมีนาคม 2548

ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ “ดอกลำดวน” ที่มีประโยชน์ในฐานะเป็นยารักษาโรคตามตำรับแพทย์แผนไทยเอาไว้อย่างครบถ้วน รวมทั้งได้ขยายความย้อนไปถึงประวัติความเป็นมาของดอกลำดวนในประเทศไทย ยาวไกลไปจนถึงยุคต้นๆ ของกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

โดยยกโคลงสี่สุภาพจากวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตพระลอ” ที่ว่า “ยามไร้เด็ดดอกหญ้า แซมผม พระเอย” ไปจนถึง “หอมบ่หอมทัดดม ดั่งบ้า” และจบลงที่ “สุกรมลำดวนชม เชยกลิ่นพระเอย…หอมกลิ่นเรียมโอ่อ้า กลิ่นแก้ว ติดใจ”

เปรียบเทียบ “ดอกหญ้า” กับดอกไม้หอมต่างๆ รวมทั้ง “ดอกลำดวน” เอาไว้อย่างไพเราะ อ่านแล้วแทบจะได้กลิ่นหอมลอยมาแตะจมูกอย่างไรอย่างนั้น

แม้ทุกวันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีและประวัติศาสตร์ไทยจะยังไม่สามารถสรุปความเห็นได้ชัดเจนว่า “ลิลิตพระลอ” แต่งขึ้นในยุคใดแน่ เพราะในการสันนิษฐานนั้น บ้างก็ว่าแต่งในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1991-2006) ประมาณ 500 ปีเศษ

บ้างก็ว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) หรือประ มาณเมื่อ 300 กว่าปีเศษๆ

แต่ก็มีบางรายที่สันนิษ ฐานว่าแต่งในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่แหละน่า ซึ่งถ้าเป็นตามนั้นก็ประมาณ 200 กว่าปี

แต่ไม่ว่าจะลงเอยที่ยุคไหนก็แปลว่า คนไทยรู้จักและชื่นชม “ดอกลำดวน” ถึงขั้นแต่งลงวรรณคดี “ลิลิตพระลอ” มานานมากตั้งแต่ 500 ปีก่อนโน้น ลงมาจนถึง 200 ปีเป็นอย่างน้อย สุดแต่จะสรุปว่าวรรณคดีเรื่องนี้แต่งขึ้นในปีใด

จาก ลิลิตพระลอ ก็มาถึง กาพย์ห่อโคลง ชุด “นิราศธารโศก” ที่นิพนธ์โดย เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง โดยเฉพาะท่อนที่เป็นกาพย์นั้นมีใจความว่า

“ลำดวนเจ้าเคยร้อย…กรองเป็นสร้อยลำดวนถวาย…เรียงดมชมสบาย…พี่เอาสร้อยห้อยคอนาง”

อีกหนึ่งบทของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร เช่นกัน ในกาพย์เห่เรือชุด “ชมดอกไม้” ที่พรรณนาถึงไม้ดอกอันสวยงาม และไม้กลิ่นหอมต่างๆ เรื่อยมาจนถึงดอกลำดวน…ดังนี้

“ลำดวนหวนหอมตระหลบ กลิ่นอายอบสบนาสา นึกถวิลกลิ่นบุหงา รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง”

จากบทกวีของเจ้าฟ้ากุ้ง 2 บทดังกล่าว ก็แสดงว่าอย่างน้อยคนไทยเรารู้จัก “ดอกลำดวน” มาไม่ต่ำกว่า 260 ปีแน่นอน เพราะเจ้าฟ้ากุ้งสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2293 ยุคปลายๆของกรุงศรีอยุธยา

อีก 1 บทที่มีการค้นพบเป็นกลอนแปดของบรมครู “สุนทรภู่” ใน “นิราศเมืองแกลง” ที่ท่านแต่งไว้ว่า “มีกลิ่นปรางนางปนสุคนธ์รื่น คิดถึงคืนเคียงน้องประคองสม ถอนสะอื้นยืนเด็ดลำดวนดม พี่นึกชมต่างนางไปกลางไพร”

ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้อีกชิ้นหนึ่งว่า คนไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์รู้จักและชื่นชมดอกลำดวนอย่างดียิ่ง จนแม้แต่ สุนทรภู่ ก็นำมาเขียนถึงในนิราศชุดนี้ของท่าน ซึ่งแต่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2349 หรือ 200 ปีเศษที่ผ่านมา

กล่าวโดยสรุปเท่าที่ทีมงานซอกแซกสายวรรณคดีใช้เวลาค้นหาเพียงไม่นานนัก ก็พบหลักฐานมากมายว่าคนไทยเรารู้จักดอกลำดวนมานานมาก เป็นการยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า “ต้นลำดวน” เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกอยู่ในภูมิภาคนี้มาแต่โบราณกาล

เข้าใจว่า ชาวเน็ตกัมพูชาที่เข้ามาประท้วง อาจเป็นชาวเน็ตรุ่นใหม่ที่ทราบแต่เพียงว่า รัฐบาลของตนได้ประกาศให้ “ดอกลำดวน” เป็นดอกไม้ประจำชาติเมื่อ พ.ศ.2548

แต่สำหรับคนรุ่นเก่าชาวกัมพูชาที่ไปมาหาสู่ติดต่อค้าขาย รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศไทยมานาน ย่อมทราบถึงความเป็นมาเป็นไปของดอกลำดวนในประเทศไทย และในอาเซียนเป็นอันดีอยู่แล้ว

ก็กลับมาสู่ประเด็นว่าด้วยวัฒนธรรม “อุษาคเนย์” และพืชพันธุ์ธัญญาหาร “อุษาคเนย์” ซึ่งมักจะมีอะไรคล้ายๆกัน เพราะเราอยู่ในเขตภูมิศาสตร์เดียวกัน ใกล้ชิดติดกัน

เล่นสงกรานต์เหมือนๆ กัน ปลูกข้าวคล้ายๆ กัน มีพิธีแรกนาขวัญเหมือนกัน มีไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้นคล้ายๆกัน แม้นาฏศิลป์ระบำรำฟ้อนก็ไม่หนีกันมากนัก ฯลฯ

แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ และหันมาสร้างความภาคภูมิใจใน “สมบัติแห่งอุษาคเนย์” ทั้งหลายร่วมกันน่าจะดีกว่าทะเลาะกันหรือแย่งกันเป็นเจ้าของคนเดียวนะครับผมว่า.

“ซูม”

ข่าว, ดอกลำดวน, สมบัติแห่งอุษาคเนย์, ดราม่า, ซูม, บุพเพสันนิวาส 2, วรรณคดี, ซูมซอกแซก