ยิ่ง “พัฒนา” ยิ่ง “เหลื่อมล้ำ” ความจริง “ของโลก” วันนี้

ผมเคยเขียนไว้บ้างแล้วในคอลัมน์ประจำวันเสาร์ ซึ่งจะมีการแนะนำหนังสือส่งท้าย เมื่อสักเดือนเศษๆว่า ผมได้รับหนังสือแปลที่เป็นหนังสือดังระดับโลกเล่มหนึ่ง จากสำนักพิมพ์ “แสงดาว”

ได้แก่ หนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century หรือ “ทุนนิยมในศตวรรษ 21” เขียนโดย Thomas Piketty หรือ ศาสตราจารย์โทมัส พิเก็ตตี นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2013 และกลายเป็น “หนังสือวิชาการ” ที่ขายดีระดับโลกในฉับพลันทันที

วันนี้ผมขอหยิบมาเขียนเพิ่มเติมนะครับ เพื่อจะลงสู่สาระลึกๆ ของหนังสือดังเล่มนี้ให้มากขึ้น

กล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษารวบรวมข้อมูลทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก พร้อมกับสังเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อจะหาคำตอบว่า เหตุใดปัญหาความ “เหลื่อมล้ำ” ของโลก จึงนับวันจะรุนแรงขึ้นทุกขณะ

แม้แต่ประเทศที่รวยที่สุดของโลกอย่างสหรัฐฯ ก็ยังต้องประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงสุดในรอบ 80 ปี

ดร.พิเก็ตตีพบว่า ส่วนแบ่งของรายได้ในสหรัฐอเมริกาในแต่ละปีนั้นตกอยู่กับคนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์มากที่สุด และเพิ่มขึ้นโดยตลอดในอัตราที่รวดเร็วอย่างน่ากังวลระหว่าง ค.ศ.1970 ถึง 2018

จาก 31 เปอร์เซ็นต์ขึ้นเป็น 51 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่ท่านลงมือตรวจสอบตัวเลขเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้

แปลความได้ว่า คนรวย 10 เปอร์เซ็นต์แรกของอเมริกา โกยเอารายได้ประชาชาติของประเทศนั้นไปอยู่ในกำมือถึงกว่าครึ่งหนึ่ง

หนังสือของ โทมัส พิเก็ตตี ชี้ให้เห็นชัดว่า ผลตอบแทนของ “ทุน” หรือ Capital ที่เพิ่มสูงกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ คือ คำตอบที่ทำให้เกิดช่องว่างอย่างมหาศาล

เพราะในช่วงเวลาที่ผลตอบแทนของ “ทุน” สูงกว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น รายได้ของ “ทุน” ก็จะสูงกว่ารายได้ของ “แรงงาน” ไปด้วย ส่งผลให้คนรวยที่เป็นเจ้าของทุนสามารถสะสมทุน สะสมความมั่งคั่งได้มากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของ “แรงงาน”

ตัวเลขที่รวบรวมมาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่ผลตอบแทนของ “ทุน” ยิ่งมากกว่าผลตอบแทน “แรงงาน” หลายๆเท่า

ผมต้องขอขอบคุณสำนักพิมพ์ แสงดาว ที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ (แปลเป็นไทยได้ดีมาก โดย นรินทร์ องค์อินทรี) อีกครั้งใน พ.ศ.นี้ เพื่อจะเป็นการยืนยันให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร? และทำไมทุกวันนี้จึงยังไม่ลดลง?

ผมไม่มีเวลาพอที่จะไปหารายละเอียดว่าผลตอบแทนของ “ทุน” ที่ท่าน “เจ้าสัว” และคนรวย 10 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศไทย สูงกว่าอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเรามากน้อยเท่าไร?

ทราบแต่เพียงว่าช่องว่างของคนรวยกับคนจนบ้านเราก็นับวันจะหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นและดูจะถ่างกว้างขึ้นอีกหลังโควิด-19

ในหนังสือเล่มนี้ ดร.พิเก็ตตี เสนอให้ภาครัฐเข้าแทรกแซงและใช้มาตรการด้านภาษีให้มากขึ้นและเข้มข้นขึ้น ซึ่งผมก็ได้แต่หวังว่ากระทรวงการคลังของไทยจะเข้าใจในประเด็นนี้และหาช่องทาง “ดึง” รายได้จากทุนของคนรวยทั้งหลายมาเข้ารัฐให้มากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการลดช่องว่างต่อไป

ผมเองไม่มีความรู้ด้านทฤษฎีอะไรมากนัก ก็ได้แต่เสนอความเห็นแบบคนธรรมดาสามัญ คือขอความร่วมมือและขอความเห็นใจคนรวยอย่างตรงไปตรงมาผ่านคอลัมน์นี้หลายครั้งว่า คนรวยไทยจะต้องช่วยคนจนไทยให้มากขึ้น

แน่นอนคงไม่มีประเทศไหนในโลกนี้หวนกลับไปใช้ระบอบสังคมนิยมกันอีก เพราะรู้ว่ามันไม่ได้ผล…แต่โลกเรายังมีความรุนแรงอื่นๆ อันเป็นผลจากความเก็บกดจากความเดือดแค้นและ ฯลฯ อีกมาก

อย่าให้ความ “เหลื่อมล้ำ” ที่ถ่างกว้างขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเราด้วย นำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่พึงปรารถนาทั้งหลายทั้งปวงโดยเด็ดขาด…เพราะมันอาจร้ายแรงกว่าระบอบสังคมนิยมก็ได้ หากเราปล่อยให้มันเกิดขึ้นจนถึงจุดที่สังคมขาดความอดทน.

“ซูม”

ข่าว, ความเหลื่อมล้ำ, เศรษฐกิจ, พัฒนา, ซูมซอกแซก