คำเตือนจาก “สภาพัฒน์” รับมือ “แรงกระแทก” รอบโลก

เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ ดนุชา พิชยนันท์ ไปขึ้นเวทีอภิปรายในงานสัมมนา “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” ของเครือมติชน แสดงความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัว ได้ระหว่าง 2.5-3.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์

ท่านย้ำด้วยว่าท่านได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังหลายครั้ง มีความเห็นตรงกัน การเพิ่มขึ้นในร้อยละ 3 นั้น น่าจะเป็นไปได้

เหตุเพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญๆ ของประเทศไทยเราเริ่มทำงานดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งสามารถส่งอาหารได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในด้านการท่องเที่ยวที่เราเริ่มโครงการทดลองผ่อนคลายต่างๆ เมื่อ 5 เดือนก่อน ก็ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึงกว่า 2 ล้านคน และเมื่อมีนโยบายผ่อนคลายตามมาอีก ตั้งแต่ปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้านเราระหว่าง 7-10 ล้านคน

ท่านมองต่อไปถึงปีหน้าและคาดว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ซึ่งเป็นอันตราที่ท่านบอกว่ามองต่ำกว่าสำนักอื่นๆ เพราะมีบางสำนักคาดว่าจะขยายถึง 4.3-4.5 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวและบางสำนักบอกว่าจะเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

ที่ท่านมองไว้ต่ำหน่อยก็เพราะช่วงหลังๆ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอิงกับภาคท่องเที่ยวค่อนข้างมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในปีหน้า แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่อาจจะยังไม่เท่ากับที่เคยเข้ามาในอดีต

อย่างไรก็ตาม ท่านก็ฝากข้อห่วงใยส่งท้ายว่าเนื่องจากสถานการณ์ในต่างประเทศมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อของโลกที่สูงมาก และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์หรือความขัดแย้งของมหาอำนาจ โดยเฉพาะเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลงโดยเร็วนั้น อาจจะมีส่วนสร้างความไม่แน่นอนแก่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประชาชนเราทั้งในปีนี้และปีหน้าได้

ท่านจึงทิ้งท้ายขอความร่วมมือให้ทุกๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปด้วยกัน

“เราควบคุมการระบาดได้แล้ว เรากำลังพยายามที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภายนอกประเทศยังมีความขัดแย้งอยู่มาก แต่ในประเทศเราควรที่จะจับมือกันเพื่อรับแรงกระแทกที่เกิดจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต…ขอให้มั่นใจว่าหน่วยงานเศรษฐกิจจะทำงานอย่างเต็มที่”

จากนั้นท่านก็อธิบายถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2566 หรือในเดือนตุลาคม 2565 นี้แล้ว ว่ามี 13 หมุดหมาย ที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยควบคู่ไปกับการเตรียมรับมือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเมืองโลกที่กำลังเกิดขึ้น นับเป็นงานที่ท้าทายสภาพัฒน์เป็นอย่างยิ่ง

ผมขออนุญาตนำมาสรุปยาวๆ อีกครั้งหนึ่งในวันนี้ ก็เพราะเห็นว่า การมองของท่านตลอดจนข้อมูลตัวเลขที่ท่านใช้ในการพยากรณ์อยู่ในเกณฑ์ที่เชื่อถือได้ไม่เว่อร์ไปแต่ก็ไม่น้อยจนเกินไป

รวมทั้งมีข้อแม้อย่างที่ผมเองก็เคยเขียนไว้หลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นข้อแม้ ที่เห็นพ้องในระดับโลกแล้วด้วยซ้ำ ว่าปัญหาเศรษฐกิจของโลกทั้งปีนี้ และปีหน้าขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อโลกและสงคราม ซึ่งยังไม่ใช่สงครามโลก แต่ก็ หนักหนาสาหัสเพราะไม่เพียงยิงกระหน่ำด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เท่านั้น ยังฟาดฟันกันด้วยอาวุธทางเศรษฐกิจที่มีความร้ายแรงและผลกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของมนุษย์พอๆ กัน

ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ ท่านเป็นข้าราชการประจำ ท่านก็ย่อมเกรงใจทางฝ่ายการเมือง…เวลาท่านจะขอร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสู้กับปัญหา ท่านก็แค่ขอร้อง “ภาครัฐ”+“ภาคเอกชน” เท่านั้น

แต่สำหรับผมและประชาชนทั่วไปที่ไม่มีกรอบใดๆ มาครอบงำ อยากจะขอร้องไปถึงบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่การกระทำของพวกเขามีผลทั้งบวกและลบแก่ประเทศชาติในทุกๆบริบทอย่างมหาศาล

กลุ่มนักการเมืองนั่นแหละครับ ที่ยังคงทะเลาะกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา และอย่างไม่ดูสถานการณ์ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในโลก

ก็เอาเถอะ ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้แล้วก็ว่ากันไปเสียให้จบ…แต่เมื่อจบแล้วขอทีนะครับ หันมาพูดกันดีๆบ้าง และช่วยกันหาทางออกให้แก่ ประเทศชาติบ้าง

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกเขามีความเห็นตรงกันเป๊ะแล้วว่า วิกฤติ เศรษฐกิจครั้งนี้ใหญ่หลวงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นักการเมืองบ้านเราแทนที่จะหันหน้ามาช่วยกันคิดแก้ไขกลับทะเลาะกันเสียอีก…เชื่อแล้วว่า “บุญมีแต่กรรมบัง” จริงๆ ครับประเทศไทยเรา.

“ซูม”

ข่าว, วิกฤติ, เศรษฐกิจ, สภาพัฒน์, นักการเมือง, ซูมซอกแซก