ดราม่า “คาร์ซีต” “ของดี” ที่มาผิดเวลา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราวสักวันที่ 8 พฤษภาคมเห็นจะได้…เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศเผยแพร่…พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2565 มีใจความสำคัญเกี่ยวกับเด็กและคาร์ซีตประจำรถยนต์โดยสรุปว่า

นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวไปแล้ว 120 วัน (ประมาณ 5 กันยายน) เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี สูงไม่เกิน 135 ซม. จะต้องนั่ง “คาร์ซีต” ขณะนั่งรถยนต์ไปตามถนนหนทางต่างๆ หากมีการฝ่าฝืนจะโดนปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเจ้าพนักงาน

เท่านั้นเองก็เกิดสถานการณ์ “ทัวร์ลง” ขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทันที…โดยเฉพาะการลงใส่รัฐบาลเจ้าเก่า…ลงใส่สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบที่จะต้องปฏิบัติเรื่องนี้ตามประกาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรา 123 ของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

และก็มีบ้างที่ไปลงใส่กรมการขนส่งทางบก เพราะผู้คนนึกว่าเป็นผู้รับผิดชอบด้วย

ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของการที่มีข่าวช็อกที่จะทำให้ประชาชนบางกลุ่มรู้สึกตกใจ ว่าจะต้องเสียเงินเสียทองเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังตกสะเก็ด รายได้ถดถอยในช่วงโควิด-19 ระบาด และยังไม่ซาลงเท่าไรนักในขณะนี้

แม้จะมีรายงานว่า ราคา “คาร์ซีต” อย่างถูกๆ จะตกประมาณชิ้นละ 1,000 กว่าบาทเท่านั้น แต่เงิน 1,000 บาทในยามนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องน้อยๆ สำหรับบุคคลบางกลุ่มบางอาชีพที่กำลังเผชิญปัญหาตกงาน

แต่ก็เชื่อเถอะครับสำหรับคนที่มีลูกจริงๆ เขาคงไม่โกรธอย่างถาวรหรอก แค่บ่นนิดหน่อยที่กฎหมายออกมาในช่วงที่ไม่ค่อยถูกกาลเทศะเท่านั้นเอง

หลังจากบ่นแล้ว พ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้ก็คงจะรีบขวนขวายไปจัดซื้อจัดหาคาร์ซีตมาให้ลูกๆ ของเขาต่อไป

จริงๆ แล้วที่บ่นๆ ด่าๆ อยู่นั้น น่าจะกว่าครึ่งด้วยซ้ำที่บ่นเพราะไม่ชอบใจรัฐบาลนี้ หรือเบื่อรัฐบาลนี้เป็นทุนอยู่แล้วเสียมากกว่า ทำอะไรออกมาไม่ว่าดีหรือไม่ดีจะถูกบ่นเอาไว้ก่อน

ที่ผมมองอย่างนี้ก็เพราะผมเองก็เพิ่งจะรู้จัก “คาร์ซีต” ในช่วง 10 ปีมานี้เอง เพราะคนรุ่นผมไม่เคยใช้ แม้จะมีลูกก็ยังไม่ได้ใช้ จึงไม่ได้ศึกษาหาความรู้เอาไว้ก่อน

จนกระทั่งช่วงมีหลานนี่แหละถึงได้รู้ว่า โลกนี้เขามีคาร์ซีตใช้กัน และพลอยรู้ด้วยว่ามันมีคุณประโยชน์อย่างไร จากพ่อแม่ของหลานซึ่งก็คือ ลูกชายกับลูกสะใภ้ผมนั่นเอง

เขาหาความรู้กันมาอย่างดีว่าจะต้องเป็นยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ที่ราคาพอสมควรและมีคุณภาพสูง

วันที่เขาไปซื้อคาร์ซีตให้ลูก เขาชวนผมไปด้วย ทำให้ผมมีโอกาสได้พบกับครอบครัวหนุ่มสาวรุ่นใหม่อีกหลายสิบคนที่แวะมาซื้อในวันนั้น ซึ่งมีการประกาศ “เซล” เอาไว้หน้าร้าน

ถึงได้รู้ว่าครอบครัวรุ่นใหม่เขารู้เรื่องนี้อย่างดียิ่ง ไม่ต้องมีใครมาออกกฎหมายบังคับเขาก็เตรียมตัวเตรียมใจและพร้อมที่จะควักเงินเพิ่มขึ้น เพื่อซื้อคาร์ซีตเพื่อความปลอดภัยของลูกๆ เขาอยู่แล้ว

แต่ด้วยสภาพของสังคมไทยที่ยังมีการเหลื่อมล้ำ ก็อาจจะมีพ่อแม่รุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ยากจนและอยู่ระหว่างก่อร่างสร้างตัว หรือเพิ่งจะผ่อนรถปิกอัพคันใหม่…อาจจะรู้สึกโกรธบ้าง เมื่อจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นจากคำประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว

หากมีการชี้แจงที่เหมาะสมดังเช่นที่หลายๆ ฝ่ายเริ่มดำเนินการอยู่ ในขณะนี้ว่า ทุกอย่างเป็นการกระทำเพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ มิใช่เพื่อหาเงินเข้ารัฐ หรือเข้ากระเป๋าผู้ถืออำนาจรัฐ…อีกไม่นานนักพ่อแม่ประเภทหลังนี้ก็คงจะเข้าใจได้โดยไม่ยาก

เพราะผมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนย่อมรักลูก รักหลานของตัวเอง

โดยความเห็นส่วนตัวของผมจึงเห็นว่าดีแล้วที่มีเสียงบ่น เสียงวิจารณ์ เพื่อที่เจ้าของเรื่องและผู้ดูแลบังคับใช้กฎหมายจะได้ถือโอกาสชี้แจง ตลอดจนนำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปปรับปรุงวิธีการปฏิบัติก่อนออกประกาศใช้ในวันที่ 5 กันยายน ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คนไทยเราก็อย่างนี้แหละครับ มีของอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยออกมามักจะมีเสียงต้านไว้ก่อน ยกตัวอย่าง “หมวกกันน็อก” กว่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างทุกวันนี้…ถ้าผมจำไม่ผิดก็ด่าทอกันอยู่หลายปี…

ขอบคุณแทนเด็กๆ ไทยด้วยครับ ที่ประเทศไทยของเราไม่ตกเทรนด์ ความรัก ความห่วงใยที่มีต่อเด็กๆ…และออกกฎหมายเพื่อเด็กฉบับนี้เช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศทั่วโลก.

“ซูม”

ข่าว, ดราม่า, คาร์ซีต, กฎหมาย, ปลอดภัย, เด็ก, ซูมซอกแซก