“กีฬา” กับการพัฒนาเศรษฐกิจ จาก “ซีเกมส์” ถึง “โอลิมปิก”

วันนี้พฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 ตรงกับวันเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยพิธีเปิดอย่างเป็นทางการที่กรุงฮานอย จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 20.00 น.เป็นต้นไป

นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่เวียดนามได้คิวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอายุมานานกว่า 60 ปี

ในฐานะแฟนกีฬาไทยที่ติดตามเชียร์มาตลอด ตั้งแต่ยังเป็นกีฬา แหลมทอง หรือ เซียพเกมส์ เมื่อ พ.ศ.2502 จนขยายตัวออกมาเป็น “ซีเกมส์” เพิ่มประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไนเข้าไปด้วยเมื่อ พ.ศ.2520 อย่างที่เคยเขียนไว้แล้ว

ผมต้องขอขอบคุณรัฐบาลเวียดนามที่ยังคงยืนหยัดจัดการแข่งขัน แม้จะมีปัญหาอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะปัญหาโควิด-19 เพื่อต่ออายุมหกรรมกีฬาของชาว “อาเซียน” ให้เดินหน้าต่อไปโดยไม่สะดุด

ในการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2003 หรือปี 2546 นั้น เวียดนามจัดได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ได้เหรียญทองสูงสุด และส่งผลต่อมาถึงการพัฒนาประเทศหลังจากนั้น

เห็นได้ชัดเจนจากอัตราความเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ โดยเฉพาะในปี 2005 หลังเป็นเจ้าภาพแล้ว 2 ปี พุ่งสูงขึ้นถึงปีละ 7 เปอร์เซ็นต์ ได้ชื่อว่าเป็น 1 ในประเทศที่เศรษฐกิจเพิ่มเร็วสุดของโลก

แม้ทุกวันนี้ขนาดเจอโควิด-19 อย่างหนักก็ยังคาดกันว่า จีดีพีเวียดนามปี 2022 หรือปีนี้ จะขยายตัวระหว่าง 6-6.5 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น “กีฬา” เป็นได้ทั้งตัว “กระตุ้น” เศรษฐกิจ และขณะเดียวก็ใช้วัดระดับ “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ได้อีกด้วย

เหตุเพราะในการขันอาสาเป็นเจ้าภาพจะต้องมีการสร้างสนาม, ตกแต่งสนาม, สร้างหมู่บ้านนักกีฬา, สร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทางต่างๆ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง

สำหรับในข้อที่ว่า “กีฬา” ใช้วัดระดับการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ก็มีตัวอย่างจากประเทศที่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆระดับโลกได้สำเร็จ โดยเฉพาะกีฬาโอลิมปิก มักจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” หรือเป็นจุดเริ่มของการไปสู่ความเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว”

ดังเช่น “ญี่ปุ่น” เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ.1964 หลังจากนั้นก็กระโดดขึ้นเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” ในทันที

หรือ เกาหลีใต้ หลังจากเป็นเจ้าภาพ “โซลโอลิมปิก” เมื่อ ค.ศ.1988 ก็ก้าวขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในไม่ช้า

รวมทั้ง จีน ก็ใช้ “ปักกิ่งโอลิมปิก” เมื่อ ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) เป็นการประกาศศักดาของการพัฒนาประเทศ จนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก หลังจากนั้นไม่นานนัก

นี่ก็คือตัวอย่างของ กีฬาระดับโลก กับการพัฒนาประเทศ ที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้อย่างได้ผล แต่สำหรับกลุ่มประเทศที่ระดับการพัฒนาเล็กลงมาหน่อย เราก็ใช้กีฬาเล็กๆ เป็นเครื่องมือไปพลางๆ

เช่น ไทยใช้ เซียพเกมส์, ซีเกมส์ และ เอเชียนเกมส์ ในการยกระดับการพัฒนาประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ไต่ระดับสูงขึ้นได้เรื่อยๆ ตลอด 60 ปี ของการพัฒนา

เวียดนาม ก็ใช้ ซีเกมส์ ไปแล้วอย่างได้ผล 1 ครั้ง และหวังว่าครั้งนี้จะใช้อีก ในขณะที่ ลาว เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งแรกปี พ.ศ.2552 ก็สามารถยกระดับการพัฒนาขึ้นมาได้อย่างน่าพอใจ

กัมพูชา จะเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในคราวหน้า ตามกำหนดก็คือ เดือนพฤษภาคมปี 2566 นี่แหละ ก็จะถือเป็นการยกระดับการพัฒนาขึ้นได้เช่นกัน หากจัดได้อย่างราบรื่น

แต่ขณะเดียวกัน ความ “ล้มเหลว” ในการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือก็มีให้เห็นเยอะเหมือนกัน…ชัดเจนมาก คือเมือง มอนทรีออล ของ แคนาดา ที่ลงมาเป็นเจ้าภาพเองเลยเมื่อ ค.ศ.1976 ขาดทุนย่อยยับ ส่งผลให้เมือง มอนทรีออล เป็นหนี้ติดต่อมาหลายปี

เอเธนส์ รัฐบาลกรีซลงมาสนับสนุนเต็มตัว แต่ลงทุนเกินตัวจนโอลิมปิก “2004” ขาดทุนย่อยยับ กลายเป็นภาระทางการคลังและเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้รัฐบาล “กรีซ” ล้มละลายในเวลาต่อมา

แสดงให้เห็นว่า การจัดกีฬาใหญ่ๆ เป็นดาบสองคม–ดังนั้น ผู้จัดจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและไม่ลงทุนเกินตัว ในแต่ละครั้งที่จะขันอาสาเป็นเจ้าภาพในระดับใดๆ ก็ตาม

ผมขอเอาใจช่วยให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการ เป็นเจ้าภาพปีนี้อีกครั้ง และอวยพรล่วงหน้าสำหรับกัมพูชา ขอให้ประสบความสำเร็จเช่นกันในปีถัดไปนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, เวียดนาม, ซีเกมส์, ทีมชาติไทย, เศรษฐกิจ, จีดีพี, พัฒนา, ซูมซอกแซก