เมื่อวานนี้ผมเขียนแสดงความยินดีที่ประเทศไทย ของเราจะมีการใช้แผนพัฒนาฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) เป็นคู่มือพัฒนาประเทศต่อไปใน 5 ปีข้างหน้า
พร้อมกับเขียนถึงรายละเอียดว่าด้วยวัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลักๆ ของแผนฉบับนี้ตามที่ท่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ และต่อมา ท่านนายกฯ ประยุทธ์เองก็หยิบมาแถลงในประเด็นหลักๆย้ำแก่ผู้สื่อข่าวอีกครั้งหนึ่ง
พอดีเนื้อที่เมื่อวานนี้ไม่พอเพียง ผมจึงข้ามส่วนสำคัญไปส่วนหนึ่ง ขออนุญาตนำมาเขียนต่อในวันนี้นะครับ
นั่นก็คือ ส่วนที่แผนฉบับนี้ใช้คำว่า “หมุดหมายการพัฒนา” ซึ่งคล้ายๆ กับจะเป็นประเด็นของผลการพัฒนาที่แผนฯ อยากจะให้เกิดขึ้น เมื่อดำเนินการพัฒนาไป 5 ปีแล้ว
มีทั้งสิ้น 4 มิติ รวม 13 หมุดหมายด้วยกัน อยู่ในเอกสารถ้อยแถลงของท่านรองโฆษกไตรศุลี…ผมขอคัดลอกมาเผยแพร่ต่อเลยนะครับ
- มติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย มีทั้งสิ้น 6 หมุดหมาย ได้แก่…ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง, ไทยเป็นจุดมุ่งหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน, ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก, ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง, ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค และไทยเป็นศูนย์การอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน
2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีวิสาหกิจขนาดเล็กขนาดกลางศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้, ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน, ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม
3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำและไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ
4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมายคือ…ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชน
ครับ! รวมทั้งสิ้น 4 มิติ และ 13 หมุดหมายที่อยากเห็นประเทศไทยของเราเดินไป “ปักหมุด” ว่าอย่างนั้นเถิด และหากปักได้ครบถ้วนก็ถือว่าประเทศไทยเราจะก้าวข้ามไปสู่อีก “เกรด” หนึ่งของการพัฒนา
ผมจำได้ว่า เคยอ่านรายละเอียดของเอกสารว่าด้วยวิธีการที่จะเดินไปสู่หมุดหมายที่ว่านี้ ที่เขียนคล้ายๆคู่มือในรายละเอียดลงไปอีกว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง ครบถ้วนในทุกหมุดหมาย
รวมทั้งมีเป้าหมายตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายของการพัฒนาในบางหมุดหมายที่สามารถจัดทำได้มาประกอบไว้ด้วย
กล่าวในเชิงเป็น “คู่มือ” แล้วผมเห็นว่า ทุกๆภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน จะสามารถใช้เป็นคู่มือในการทำงานและเข้ามามีบทบาทร่วมกันได้ในทุกๆหมุดหมายเลยทีเดียว
ผมก็หวังว่าทาง สภาพัฒน์ ในฐานะที่เป็นแกนกลาง หรือภาษาฟุตบอลก็คือ “มิดฟิลด์” ตัวหลักในการเชื่อมระหว่างกองหน้า กองหลัง และผู้เล่นต่างๆ ในสนาม…จะรับไปทำหน้าที่ในการประสานงานเพื่อขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการในทุกๆหมุดหมาย…เท่าที่จะทำได้
ปี 2566 ของแผนนี้ก็คือ ปีงบประมาณ 2566 ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคมปี 2565 นี่แล้ว และดูตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณก็น่าจะเริ่มทำกันแล้วในขณะนี้
หวังว่าคงจะได้มีการประสานกับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดหา งบประมาณสำหรับโครงการต่างๆภายใต้กรอบของหมุดหมาย 13 ประการกันบ้างแล้วนะครับ
ผมไม่หวังหรอกว่า เราจะทำได้ทุกหมุดหมาย แต่หวังอย่างยิ่งว่า เราน่าจะทำได้พอสมควร หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง
ขอเอาใจช่วยให้ประเทศไทยของเราสามารถเดินไปสู่หมุดหมายเหล่านี้ในที่สุดนะครับ อย่าให้ “ความฝัน” อันสวยงามที่ “แผน 13” ตั้งไว้…กลายเป็น “ฝันสลาย” หรือ “หมุดหาย” ไปเสียก็แล้วกัน.
“ซูม”