หนี้ครัวเรือน “ไทย” ระเบิดเวลาเศรษฐกิจ

เราคงจะได้ยินนักเศรษฐศาสตร์พูดถึงปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศไทยเราบ่อยมากในช่วงปี 2 ปีมานี้…พูดไปติงไปในทำนองว่าตัวเลขของบ้านเราชักจะสูงขึ้นเรื่อยๆแล้วนะ…ระวังจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจเอานะ

นักเศรษฐศาสตร์บางรายถึงกับใช้คำว่า “ระเบิดเวลา” ด้วยซ้ำในการชี้ให้เห็นถึงอันตรายของหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเราในขณะนี้

เหตุที่ต้องใช้คำว่า “ระเบิดเวลา” ก็เพราะ ณ นาทีปัจจุบันผลกระทบในเชิงลบของหนี้ครัวเรือนอาจจะยังไม่เกิดขึ้น

แต่ถ้าปล่อยเอาไว้หรือนิ่งดูดายโดยไม่แก้ไข อาจเป็นผลทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง มีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นจะมีผลโดยตรงต่อสถาบันการเงินที่ให้เงินกู้…หรือไม่ก็ต่อผู้ให้กู้ยืมในรูปแบบต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ… โดยเฉพาะตัวเลขด้าน บริโภค ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากตัวเลขหนึ่ง

หากครัวเรือนเป็นหนี้มากๆ รายได้ที่ได้มาจะต้องถูกหักไปชำระหนี้ อันเป็นผลทำให้เหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยน้อยลง…การบริโภคต่างๆ ก็จะน้อยลงด้วยเป็นเงาตามตัว

เมื่อแรงบริโภคหรือตัว C แผ่วลงก็เท่ากับว่า เครื่องยนต์ที่จะทำหน้าที่ปั๊มผลิตภัณฑ์ของประเทศพลอยแผ่วไปด้วย 1 เครื่อง

ไม่เพียงแต่จะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจโดยตรงดังกล่าวเท่านั้น…ยังเกิดปัญหาทางอ้อมซึ่งเป็นปัญหาด้านสังคมที่จะทำให้บุคคลที่เป็นหนี้สินทั้งหลายรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังเพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้…

ถ้าคนส่วนใหญ่หรือจำนวนมากๆ ของประเทศตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ จะเอาเรี่ยวแรงหรือกำลังกายกำลังใจที่ไหนไปพัฒนาประเทศชาติของตนเองล่ะครับ

นี่คือเหตุผลหลักๆ ที่ว่า ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ต้องหันมาเอาใจใส่กับปัญหาหนี้ครัวเรือนในดีกรีที่สูงขึ้น ในช่วงหลังๆ…เวลาแถลงข่าวเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศของสำนักใดก็ตาม มักอดมิได้ที่จะต้องเอ่ยถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยควบคู่ไปด้วยเสมอๆ

สำหรับข้อมูลที่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการของบ้านเรานั้น พบว่า เมื่อก่อนสถานการณ์โควิดหรือปลายปี 2562 หนี้ครัวเรือนของเราอยู่ที่ประมาณ 89.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบว่า เราสูงสุดเป็นอันดับ 12 จาก 70 ประเทศที่มีตัวเลขในเรื่องนี้ และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้เท่านั้นเอง

ต่อมา ณ สิ้นปี 2564 หลังโควิดระบาด 2 ปีเต็มพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของเราพุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับ 90.1 เปอร์เซ็นต์…ทำให้น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก และเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลไทยประกาศให้ปีนี้ (2565) เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน”

เท่าที่ผ่านมา เราคงได้ยินได้ฟังเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ ถึงขั้นเปิดเวทีให้มีการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ โดยจัดเป็นกิจกรรมใหญ่ที่เรียกว่า “มหกรรมปลดหนี้” ตามศูนย์แสดงสินค้า หรือห้องประชุมของจังหวัดหลายๆจังหวัด

ซึ่งก็คงเป็นได้เพียงวิธีผ่อนคลายความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะหนี้สินต่างๆ คงจะยังไม่หมดไป…แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีมากเพราะจะทำให้ลูกหนี้มีโอกาสหายใจได้บ้าง

การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ดีที่สุดก็คือ การเพิ่ม รายได้ครัวเรือน ให้สูงขึ้นนั่นเอง เพื่อให้ครัวเรือนต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อหักที่จะต้องชำระหนี้แล้วยังเหลือไปใช้จ่ายในด้านอื่นๆ อันจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นบ้าง

แต่วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ยากที่สุดเพราะการเพิ่มรายได้หรือกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการสารพัดวิธีนั้นก็อย่างที่ทราบ กลับทำให้ช่องว่างของรายได้ถ่างออกไปอีก…คนรวย (รวมถึงเจ้าหนี้ด้วย) กลับรวยขึ้นไปอีกในขณะที่คนจน (แน่นอนรวมลูกหนี้ไว้เป็นส่วนใหญ่) มีแต่จนลงเพราะความสามารถในการเก็บเกี่ยวรายได้แตกต่างกัน

ก็คงต้องฝากให้รัฐบาลดูแลเรื่อง “การกระจายรายได้” ให้ดีที่สุดควบคู่ไปด้วยนะครับ เพื่อให้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยเบาบางลง และไม่กลายเป็นระเบิดเวลาที่จะทำร้ายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและสถาบันการเงินของไทยดังที่หลายๆ ฝ่ายห่วงใย.

“ซูม”

ข่าว,​ เศรษฐกิจ, หนี้ครัวเรือน, ไทย, ระเบิดเวลา, การกระจายรายได้, ซูมซอกแซก