สุดทางที่…“กรุงเทพฯ” ความฝัน “ตลอดกาล” คนไทย

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ครบ 240 ปี โดยได้กล่าวขอบคุณมหานครแห่งนี้ในฐานะที่เป็น “มหานคร” ของคนไทยทั่วประเทศ

เป็นที่พักพิง เป็นที่พึ่งพาอาศัย เป็นแหล่งงาน แหล่งรายได้หลายร้อยหลายพันอาชีพแก่ผู้อ่านทั้งประเทศที่เข้ามาแสวงหางานทำ

แน่ละ ในท่ามกลางความดีงามก็ย่อมจะมีความชั่วร้ายแอบแฝงอยู่บ้าง เช่น การหลอกลวง การกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบต่างๆ ที่คนต่างจังหวัดต้องมาเผชิญในกรุง

แต่เมื่อหักกลบลบบวกกันแล้ว ผมมองว่ามหานครแห่งนี้มี “คุณ” ต่อผู้คนในชนบทนับล้านๆ ชีวิตที่ได้มาทำงานต่างๆ ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา

เมื่อประมาณ พ.ศ.2520 เศษๆ กว่า 40 ปีมาแล้ว ขณะผมยังเป็นข้าราชการของสภาพัฒน์ และทำงานด้านพัฒนาชนบทนั้น

จำได้ว่าทฤษฎีพัฒนาชนบทและภูมิภาคแต่ไหนแต่ไรมาก็คือ จะต้องลงไปพัฒนาชนบทให้พี่น้องของเรามีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น…ควบคู่ไปกับการพัฒนา เพื่อสร้างความเจริญให้แก่ “พื้นที่” ในภูมิภาคต่างๆ ที่เราเรียกกันว่า “การพัฒนาภาค” นั่นเอง

เพื่อที่จะให้มีแหล่งความเจริญตามหัวเมืองเกิดขึ้นเพื่อรองรับแรงงานในชนบทไม่ให้หลั่งไหลเข้ากรุง

พวกเราที่ทำงานพัฒนาชนบทได้ดำเนินการตามทฤษฎีเช่นว่านี้ทุกประการ โดยเฉพาะการเร่งรัดพัฒนาเมืองหลักในภูมิภาคต่างๆ

แต่กระนั้นการหลั่งไหลเข้ากรุงของพี่น้องชนบทก็ยังคงดำเนินต่อไป และดูจะมากขึ้นด้วยตามจำนวนประชากรที่ยังเพิ่มสูงในยุคโน้น

จะด้วยเหตุผลทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี หรือทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่คนไทยยังเชื่อว่าแหล่งงานขนาดใหญ่ยังรออยู่ที่กรุงเทพฯ ฯลฯ เรายังไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างแจ้งชัดนัก

เรารู้แต่เพียงว่าใน พ.ศ.2520 กว่าๆ นั้น พลังดึงดูดของกรุงเทพมหานครใหญ่หลวงเกินกว่าพลังการพัฒนาชนบทจะต้านเอาไว้ได้

เมื่อได้บทสรุปอย่างนี้ พวกเรานักพัฒนาชนบทของ สภาพัฒน์ ยุคนั้น ภายใต้การนำของท่านรองฯ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ก็ตกลงกันว่า เราจะยังคงพัฒนาชนบทในแบบดั้งเดิม คือทำให้ชาวชนบทได้รับความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ให้ครบถ้วนในท้องถิ่นของเขาต่อไป

โรงพยาบาลอำเภอ สถานีอนามัยตำบล ถนนหนทาง ประปา ไฟฟ้า ระบบชลประทาน ฯลฯ เราจะพยายามจัดหาให้ต่อไปตามแผน

แต่สำหรับพี่น้องชาวชนบทที่ยังตกอยู่ภายใต้พลังดูดของกรุงเทพมหานครยังต้องการเดินทางไปหางานทำหรืออื่นใดนั้น เราจะติดอาวุธทางปัญญาให้เขา…ให้เขามีความรู้ มีความคิด มีความรู้ทัน และมีความ แข็งแกร่งที่จะเอาตัวรอดให้ได้ขณะไปต่อสู้และใช้ชีวิตในเมืองหลวง

จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาการเรียนรู้นอกโรงเรียนหลายต่อหลายโครงการที่เราจัดหางบประมาณไปให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ

ผมจำไม่ค่อยได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่จำได้อยู่หนึ่งอาวุธที่คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ หัวหน้าทีมพัฒนาชนบทของสภาพัฒน์ นำไปคุย กับท่าน โกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียนยุคนั้น

นั่นก็คือ “ที่อ่านหนังสือพิมพ์หมู่บ้าน” ซึ่งฟังดูเหมือนเชยมากในยุคนี้ แต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นี่คือการติดอาวุธทางปัญญาที่ดีที่สุด

แม้กาลเวลาจะผ่านมาเกือบ 40 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ กรุงเทพมหานครก็ยังคงเป็นเมืองในฝันที่พี่น้องชาวชนบทมุ่งหน้าจะเข้ามาใช้ชีวิตและหางานทำอยู่เหมือนเดิม

ไม่ทราบว่ารัฐบาลยุคนี้ หรือกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆในสมัยนี้ มีการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ชาวชนบทรุ่นใหม่หรือไม่? อย่างไร?

ถ้ายังไม่มีโครงการก็คิดๆ ไว้บ้างนะครับ…ยุคนี้สมัยนี้น่าสะพรึงกลัวกว่ายุคก่อนหลายเท่า การติดอาวุธทางปัญญาที่เหมาะสมเท่านั้นที่จะทำให้พี่น้องชนบทที่ยังมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ สามารถอยู่อาศัยใน “วังวน” ของนํ้าเชี่ยวยุคปัจจุบันได้อย่างมีความสุข

ฝากรัฐบาล “ชุดหน้า” เอาไว้ด้วยนะครับ เพราะรัฐบาล “ชุดนี้” ท่านมีเรื่องที่จะต้องแก้ไขเยอะอยู่แล้ว…โดยเฉพาะการจะเอาตัวให้รอดได้อย่างไรในปีนี้ ปีหน้า…ฉะนั้นอย่าไปฝากอะไรให้ท่านเป็นภาระมากไปกว่านี้เลย.

“ซูม”

ข่าว,​ หัวลำโพง, กรุงรัตนโกสินทร์, กรุงเทพมหานคร, 240 ปี, มหานคร, ซูมซอกแซก