เพิ่งรู้ “ภูเขาทอง” อยุธยา ที่มา “ภูเขาทอง” กรุงเทพฯ

หัวหน้าทีมซอกแซกรู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อได้รับแจกแผ่นปลิวเกี่ยวกับสถานที่และเวลาอย่างคร่าวๆ ที่ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แจกให้แก่พวกเราก่อนออกเดินทาง ไปสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เพราะมีกำหนดการที่จะแวะไปเยือน “วัดภูเขาทอง” ซึ่งมีเจดีย์โด่งดังเป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศที่เรียกกันว่า “เจดีย์ภูเขาทอง” ประดิษฐานอยู่ด้วยที่วัดนี้

ตื่นเต้นเพราะหัวหน้าทีมซอกแซกเคยได้ยินชื่อเสียง และเคยถูกบังคับให้ท่องบทอาขยานที่เกี่ยวกับพระเจดีย์องค์นี้ เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 หรือ ม.7 เมื่อ พ.ศ.2501 มาแล้ว…จำได้ว่ายุคนั้นสามารถท่องได้อย่างคล่องแคล่ว

เริ่มตั้งแต่ “เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระ พระวสา…รับกฐินภิญโญโมทนา…ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย” อันเป็นบทเริ่มต้นไปจนถึงท่อนสำคัญที่ว่า

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง…มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมนํ้านรกเจียวอกเรา…ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”

และในที่สุดมาถึงท่อน “ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ…เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย”

อันเป็นหมุดหมายปลายทางของการเดินทางทางเรือ จากกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ไปสู่กรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา ของท่านผู้ประพันธ์กวีบทนี้ ซึ่งก็คือ “บรมครู” ของพวกเราเหล่านักกลอนทั้งหลาย ท่าน “สุนทรภู่” นั่นเอง

และบทกวีที่เป็นกลอนแปดบทนี้ก็คือ “นิราศภูเขาทอง” ที่ท่านบรรจงแต่งไว้ เมื่อประมาณ พ.ศ.2371 หรือ 194 ปีที่ผ่านมา

หัวหน้าทีมซอกแซกได้ยินชื่อและรู้จัก “ภูเขาทอง” แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกก็จากบทอาขยานที่โรงเรียนเขาบังคับให้ท่องบทนี้…ยังนึกสงสัยว่า เหตุไฉนท่านสุนทรภู่ถึงต้องลงเรือแจวจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงจังหวัดพระนครศรี อยุธยาเพื่อกราบไหว้พระเจดีย์องค์นี้แล้วเขียน “นิราศ” ออกมาได้อย่างซาบซึ้งตรึงใจดังกล่าว

ก็ปรากฏว่าไปได้รับคำตอบเอาที่บริเวณลานวัด หน้าองค์พระเจดีย์ “ภูเขาทอง” โดยการ บรรยายของท่านอาจารย์ ดร.สุเนตรนั่นแหละครับ

ก่อนอื่นเรามาทบทวนกันเสียก่อนว่า วัดแห่งนี้มีความเป็นมาและเป็นไปอย่างไร โดยเริ่มจากบันทึกคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า วัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระราเมศวร เมื่อ พ.ศ.1930 ต่อมา พระเจ้าบุเรงนอง ยกทัพมาประชิดกรุงศรีอยุธยาแล้วยึดไว้ได้ เมื่อ พ.ศ.2112 จึงสร้าง “พระเจดีย์ภูเขาทอง” ที่มีฐานแบบเจดีย์มอญและพม่าไว้เป็นที่ระลึก แต่ยังไม่เสร็จครบองค์ก็ยกทัพกลับไป

ต่อมา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ เมื่อ พ.ศ.2127 จึงโปรดเกล้าให้สร้างเจดีย์แบบไทยไว้เหนือฐานแบบมอญและแบบพม่า ซึ่งต่อมาก็มีการบูรณะอีกหลายครั้งและครั้งล่าสุดก็คือในยุคสมัย พระเจ้าบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จนมีรูปลักษณ์ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่ 2 วัดภูเขาทองก็กลายเป็นวัดร้างเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ อีกจำนวนมาก แต่ก็ยังเป็นที่กล่าวถึงของชาวรัตนโกสินทร์ ราชธานีใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะนอกจากเจดีย์ภูเขาทองจะเป็นอนุสรณ์ของตำนานการสู้รบ และการกอบกู้เอกราชดังกล่าวแล้ว ยังมีชื่อเสียงอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การเป็นสถานที่ชุมนุมจัดงานสนุกสนานต่างๆของชาวกรุงศรีอยุธยาช่วงปลายๆ จนเป็นที่โจษขานไปทั่ว

หน้าวัดภูเขาทองนั้นเองมีคลองขุดที่โด่งดังมากคลองหนึ่ง นำขุดโดยพระภิกษุที่มีชื่อว่า “นาค” และคงบวชเรียนอยู่นานจนชาวบ้านเรียกว่า “มหานาค”

เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จจึงตั้งชื่อคลองนี้ว่า “คลองมหานาค” ตามชื่อของพระภิกษุที่นำชาวบ้านขุดคลองดังกล่าว

ลำคลองมหานาคนี่แหละที่เป็นสถานที่เล่นเพลงบอก เพลงสักวา และเพลงเรือต่างๆ ของชาวกรุงศรีอยุธยาจนเป็นที่เลื่องลือ และอยู่ในความทรงจำของคนกรุงศรีอยุธยาไปโดยตลอด

ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงตั้งกรุงเทพฯให้เป็นราชธานีขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2326 นั้น ได้ทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองขึ้น 2 คลอง ได้แก่ คลองรอบกรุง เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันพระนครกับอีกคลองเรียกว่า คลองมหานาค อันเป็นชื่อพระราชทานให้ โดยทรงนำแบบอย่างมาจากคลองมหานาคที่วัดภูเขาทองในกรุงเก่า สำหรับให้ชาวพระนครใช้เล่นเพลงสักวาดังเช่นยุคกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

ไม่แน่ใจว่าชาวกรุงใหม่จะชอบเล่นเพลงสักวาในคลองมหานาคใหม่หรือไม่ แต่จาก “นิราศภูเขาทอง” ของ สุนทรภู่ ที่แต่งไว้ ยังคงมีการเล่นสักวาในคลองมหานาคเก่า ณ กรุงศรีอยุธยาอันเป็นวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการนั่งเรือทวนน้ำไปไหว้ภูเขาทอง และชมการเล่นสักวาทางเรือที่อยุธยาของท่านสุนทรภู่เมื่อครั้งกระนั้น

โดยบันทึกไว้ค่อนข้างยาวทีเดียวใน นิราศภูเขาทอง ว่าด้วยความสนุกสนานของการเล่นเสภาในเรือฉลองผ้าป่าในวันที่ท่านไปจอดนอนค้างคืน

ส่วนการสร้างพระบรมบรรพต หรือ “เจดีย์ภูเขาทอง” ขึ้นที่ วัดสระเกศ (ซึ่งสร้างตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และอยู่ริมคลองมหานาคที่ทรงมีพระราชดำริให้ขุด) นั้น เป็นพระราชดำริของ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่มาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในยุคสมัยของ พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์ มี ภูเขาทอง เคียงคู่ คลองมหานาค เช่นเดียวกับกรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยา สืบต่อมาจนถึงวันนี้

ก็ขออนุญาตทึกทักตีความเอาเองว่า เหตุที่ท่าน สุนทรภู่ ยอมนั่งเรือทวนน้ำไปกรุงเก่านอกจากจะไปไหว้องค์ภูเขาทองแล้วก็คงจะไปฟังเพลงสักวาที่คลองมหานาคกรุงเก่าตามรสนิยมของ “คนกรุงใหม่” ใน พ.ศ.นั้นที่ยังถวิลถึงความสุข ความสำราญ และความรุ่งเรืองแห่งกรุงศรีอยุธยาราชธานีอันยิ่งใหญ่ ที่มีการบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังมาตลอดยุคแรกๆ ของรัตนโกสินทร์

สรุปถูกสรุปผิดหรือไม่ อย่างไร…ขออภัย ล่วงหน้าด้วยนะครับ…เพราะพื้นฐานของหัวหน้า ทีมซอกแซกเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ครับ มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เพียงแค่หางอึ่ง เท่านั้นเอง แฮ่ม!

“ซูม”

ข่าว, พระนครศรีอยุธยา, วัดภูเขาทอง, เจดีย์, นิราศภูเขาทอง, สุนทรภู่, ประวัติศาสตร์, คลองมหานาค, ซูมซอกแซก