ตำนาน “ครอบครัวไทย” จาก “6 คน” เหลือ “2 คนครึ่ง”

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2532…วันที่คณะรัฐมนตรีของ “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ลงมติตามข้อเสนอของคุณหญิงสุพัตรา มาสดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้วันที่ 14 เมษายนของทุกๆ ปี เป็น “วันครอบครัว” นั้น…สมาชิกในครัวเรือนของประเทศไทยยังอยู่ที่ครัวเรือนละ 6 คน

ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก 2 คน กับ ปู่-ย่าอีก 2 คน รวมเป็น 6 คน หรือไม่ก็พ่อแม่ลูก 2 คน กับ ตา-ยาย อีก 2 คน รวมเป็น 6 คน เช่นกัน

โดยปกติถ้าครอบครัวไหนมีปู่กับย่ามาอยู่ด้วย…ตายายก็จะไม่มาหรือถ้าตายายมาอยู่ด้วย ปู่กับย่าก็จะแยกอยู่ต่างหากกับลูกคนอื่นๆ

เหตุที่คณะรัฐมนตรีของน้าชาติเลือกวันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว ก็เพราะเห็นว่า วันนี้อยู่ในช่วงของเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่คนไทยไม่ว่าจะไปทำงานอยู่แห่งหนใดภายในประเทศจะเดินทางกลับภูมิลำเนาอยู่แล้ว

ถือว่าอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาภายในครอบครัวอยู่แล้ว หากย้ำลงไปให้ชัดเจนว่า วันนี้เป็นวันครอบครัวนะ ก็จะทำให้คนไทยจดจำได้ง่าย และขณะเดียวกันก็จะทำให้คนไทยซึ่งรวมกันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัวของแต่ละคนอยู่แล้ว รู้สึกว่าการอยู่รวมกันในวันที่ 14 เมษายนนั้น มีความหมายมากยิ่งขึ้น

อาจจะถือโอกาสจัดงานเลี้ยงในครอบครัว หรือมีกิจกรรมอะไรๆ เป็นพิเศษเพิ่ม “ความอบอุ่น” ขึ้นในวันครอบครัวดังกล่าว

ซึ่งก็เป็นจริงดังที่คณะรัฐบาลน้าชาติและพรรคร่วมโดยเฉพาะประชาธิปัตย์ เจ้าสังกัดของคุณหญิงสุพัตราคาดไว้ทุกประการ

คนไทยจำได้อย่างแม่นยำว่า 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว และส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีกิจกรรมพิเศษๆ กันพอสมควรในวันนี้

เผลอแผล็บเดียวกาลเวลาก็ผ่านไปอย่างที่สำนวนคนรุ่นเก่าๆ พูดกันว่า “ไวเหมือนโกหก”…33 ปี เป็นที่เรียบร้อยจาก 2532 สู่ 2565

พร้อมกับเกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ขึ้นในสังคมไทยหลายๆ อย่างเช่น คนไทยแต่งงานช้าลง…แต่งแล้วก็ไม่อยากมีลูก…ไปจนถึงขออยู่เป็นโสดโดยไม่แต่งงานเลยก็มีเป็นจำนวนมาก

ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนสมาชิกของครอบครัวไทยเราลดจาก 6 คน เหลือเพียง 2.4 คน เท่านั้น จากรายงานที่มีการศึกษาเอาไว้ล่าสุด เรียกว่า เหลือครัวเรือนละไม่ถึง 2 คนครึ่งด้วยซ้ำไป แต่เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการจดจำก็เอาเป็นว่าเหลือ 2 คนครึ่งพอดีๆ ก็แล้วกัน

ด้วยตัวเลขเฉลี่ยแบบนี้แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนที่มีแค่ 2 คนเท่านั้น จะมีมากขึ้น…ซึ่งเมื่อลงไปดูในรายละเอียดก็เป็นจริง

พบว่ามีทั้งครัวเรือน 2 คน แบบสามีภรรยาที่ไม่มีลูกไปจนถึง 2 คนแบบพ่อกับลูก (เพราะแม่แยกทางไป) หรือแม่กับลูก (เพราะพ่อแยกทางไป) ในสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับยุคก่อนๆ

ครัวเรือนประเภท 6 คน หรือ 5 คน แม้จะมีอยู่แต่ค่อนข้างน้อยลงไปเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

นักประชากรศาสตร์ หรือนักสังคมศาสตร์บางท่าน เชื่อว่าอีก 30 ปีข้างหน้า ถ้าแนวโน้มยังเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ครัวเรือนประเภท “คนเดียว” จะมีมากขึ้น และค่าเฉลี่ยของ “สมาชิก” ครัวเรือนจะเหลือต่ำกว่า 2 คน

ครอบครัวที่มีสมาชิกแค่คนเดียว จะเรียกว่า “ครอบครัว” ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ซี

อาจจะต้องมีการแก้นิยามหรือคำจำกัดความของคำว่า “ครอบครัว” เสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

ผมเข้าใจว่า ทุกวันนี้กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลไทยก็เริ่มเห็นปัญหาแล้ว จึงมีโครงการส่งเสริมการแต่งงาน ส่งเสริมการมีชีวิตคู่ ขึ้นมาหลายๆ โครงการ เพื่อหาทางเพิ่มอัตราเกิดของเด็กไทยเราอันจะมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยของสมาชิกครอบครัวไทยเราเพิ่มสูงขึ้น

รวมทั้งจะเป็นผลให้มีแรงงานหนุ่มๆ สาวๆ รุ่นใหม่มาทำงานรับใช้ประเทศชาติในอนาคตมากขึ้นด้วย

ขอสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขครับ…ขอให้คนไทยเราแต่งงานกันเร็วขึ้นเยอะขึ้น มีลูกมากขึ้นและสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้นในอนาคตนะครับ

ไม่รู้นะผมว่ายังไงๆ ก็เหงาแน่ๆ ในวันที่ 14 เมษายน อีก 30 ปีข้างหน้า…หากปรากฏว่าประเทศไทยของเราจะมีแต่หัวหน้าครอบครัวชายบ้างหญิงบ้างนั่งดื่มนั่งกินฉลอง “วันครอบครัว” อยู่เพียงคนเดียว โดยไม่มีสมาชิกคนอื่นๆ เลย.

“ซูม”

ข่าว, เทศกาล, สงกรานต์, วันครอบครัว, ซูมซอกแซก