“ไทย” กับเส้นทางสู่อนาคต ไม่มืดมิดแต่ต้อง “ปรับตัว”

เมื่อวันศุกร์ที่แล้วนี้เอง ผมเขียนบอกกล่าวเล่าสิบให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า ผมได้รับหนังสือเล่มหนาปึกเล่มหนึ่ง เนื้อหาสาระดีมาก จากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ชื่อหนังสือเป็นภาษาไทยว่า “50 ปีแห่งประสบการณ์สร้างรากฐานสู่อนาคต” และตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Making of The Modern Thai Economy” จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสที่กลุ่มธุรกิจการเงินดังกล่าวตั้งมาครบ 50 ปี

แม้เนื้อหาจะเน้นไปในด้านเศรษฐกิจและการเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มิได้ทิ้งเหตุการณ์ทางการเมืองและสังคมที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ…ถือเป็นความพยายามที่จะมองให้ครบทุกมิติของหนังสือเล่มนี้

จึงต่างไปจากเอกสารรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม หรือการเงินการธนาคารที่จัดทำโดยหน่วยงานของฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งมักจะมองไม่ครบถ้วนทุกมุม เพราะมีข้อจำกัดบางประการดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ผมชอบบทสรุปในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ที่เขาขึ้นข้อความพาดหัวว่า “มองไกลข้ามขอบฟ้า” อันหมายถึงการมองออกไปข้างหน้าว่าอนาคตของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร โดยเขียนเป็นข้อความสั้นๆแต่ได้สาระที่บ่งบอกถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข…ดังนี้

“ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผ่านคลื่นลมที่ถาโถมและแปรปรวนนับครั้งไม่ถ้วน แต่แทบทุกครั้งผู้วางนโยบายและประชาชนก็ดูจะสามารถหันเหใบเรือและใช้ประโยชน์จากคลื่นลมจนสามารถนำพาประเทศไปข้างหน้าได้เสมอ”

“คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า แม้โครงสร้าง สถาบันทางเศรษฐกิจและการเมือง ในอดีตอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนไปในทิศทางที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาได้โดยสำคัญ”

“แต่มองไปพ้นขอบฟ้าของวันนี้รัฐนาวาประเทศไทยกำลังแล่นไปสู่น่านน้ำที่ไม่คุ้นชิน สถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบเดิมอาจไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอีกต่อไป”

“เศรษฐกิจโตช้าลงเมื่อเครื่องยนต์เริ่มอ่อนแรง และเผชิญกับความท้าทายที่ถาโถม สภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำ เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ การผูกขาดกินรวบพิสูจน์ชัดว่าบั่นทอนการลงทุน การพัฒนาทักษะหรือการสร้างนวัตกรรมของผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ”

“ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐที่เติบโตจนเกินขนาดยังเบียดบังพื้นที่การทำงานของตลาด อันเป็นที่มาของผลิตภาพและประสิทธิภาพ–(สิ่งต่างๆ เหล่านี้) ทำให้การปรับโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน”

ผมคงไม่มีเนื้อที่พอจะนำสิ่งที่คาดว่าจะเป็นปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะในการปรับตัวเองของประเทศไทยมาลงได้ในที่นี้… ว่างๆ ใครก็ตามที่คิดว่าตนเองมีบทบาทหลักอยู่ใน สถาบันทางเศรษฐกิจ หรือใน สถาบันทางการเมือง ก็ลองไปขอหนังสือเล่มนี้จาก กลุ่มธุรกิจ การเงินเกียรตินาคินภัทร อ่านกันเอาเองนะครับ

ผมเชื่อเหมือนที่คณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้เชื่อว่าประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก และมีศักยภาพที่ซ่อนตัวอยู่ในทุกภาคส่วนของประเทศ…รวมทั้งในตัวประชาชนคนไทยเราเอง

รวมทั้งเชื่อด้วยว่าแม้วิกฤติที่รออยู่ข้างหน้าจะน่ากังวลแค่ไหนก็ตาม…เราก็จะผ่านไปได้อีกครั้งเหมือนที่ผ่านมาในอดีต

ถ้าไม่คิดจะสอบผ่านแบบได้คะแนนดีๆ จะอยู่กันไปเรื่อยๆ แบบไม่ปรับตัวอะไรเลย…ผมก็เชื่อว่าด้วยศักยภาพของคนไทยและประเทศไทยที่ซ่อนเร้นอยู่ดังที่หนังสือเล่มนี้ระบุไว้ในหลายๆ บท…คงจะช่วยให้เราสอบผ่านได้อย่างแน่นอน…แต่จะเป็นแค่ระดับ C เท่านั้น

ไหนๆก็ไหนๆ…จะก้าวไปสู่อนาคตอันยาวไกลกับเขาทั้งที ผมว่าเราควรจะสอบให้ได้คะแนนดีๆระดับ B หรือ B+ เป็นอย่างน้อย…ซึ่งก็จะได้มาจากการปรับตัวของบุคคลในสถาบันหลักต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองตามที่หนังสือเล่มนี้ชี้แนะไว้

โดยเฉพาะ สถาบันการเมือง ผมเป็นห่วงที่สุดเพราะที่ผ่านมามักเป็นตัวถ่วงที่สร้างปัญหามากกว่าเพื่อน จึงขอแนะนำท่านที่อยู่ในสถาบันการเมือง ไล่ตั้งแต่ผู้นำรัฐบาลลงมาถึงหัวหน้าพรรคการเมือง และนักการเมืองทุกคน โปรดหาหนังสือเล่มนี้อ่านโดยด่วน

เผื่อประเทศไทยของเราจะสอบผ่านการพัฒนาประเทศและก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้าแบบได้คะแนนดีๆ กับเขาเสียทีนึง.

“ซูม”

ข่าว, หนังสือ, อนาคต, ไทย, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก