#Save “ปลาทู” ไทย อย่าให้เป็นแค่ “ความฝัน”

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงการรับประทานปลาทู “โอมาน” ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาทู “อิมพอร์ต” หรือปลาทู “นำเข้า” ที่มีการสั่งเข้ามาชดเชยการบริโภคปลาทูของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นแต่จับปลาทูในอ่าวไทยของเราเองได้น้อยลงในช่วงหลังๆ

แม้โดยข้อเท็จจริงปลาทูโอมานจะเข้ามาขายในบ้านเราหลายปีแล้ว แต่เนื่องจากผมเพิ่งจะเคยรับประทานเป็นครั้งแรกในชีวิต จึงออกจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ พอกลับถึงบ้านก็รีบไปค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเขียนถึงในคอลัมน์นี้โดยไม่ชักช้า

วันนี้ก็ยังไม่หายตื่นเต้นครับ ขออนุญาตท่านผู้อ่านเขียนต่ออีกสักวัน

ประเด็นแรกก็เพื่อจะยืนยันอีกครั้งว่า หากเราจะไม่มีปลาทูไทยๆ ให้รับประทานกันจริงๆ (เพราะจับได้น้อยลงทุกปี) ละก็…ปลาทู โอมาน ช่วยแก้ขัดได้เลยละครับ ในการรับประทานกับนํ้าพริกกะปิ

แม้จะไม่อร่อยเท่าปลาทูไทย แต่ก็มีรสชาติของความเป็นปลาทู และไปกันได้กับ “นํ้าพริก” คู่บ้านคู่เมืองของเรา

แต่ก็แน่ละถ้ายังมีปลาทูไทยให้เลือก เราก็คงจะเลือกปลาทู “หน้างอคอหัก” ของเราร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพราะไม่มีปลาทูสัญชาติไหนในโลกใบนี้จะมีรสชาติทัดเทียมได้

ส่วนเหตุผลที่ 2 นั้นก็สืบเนื่องมาจากผลการค้นข้อมูลเพิ่มเติม ดังที่ผมเรียนท่านผู้อ่านไปคร่าวๆ บ้างแล้วเมื่อวานนี้ว่า ในแต่ละปี คนไทยบริโภคปลาทูประมาณ 4 แสนตัน แต่เราจับได้ในอ่าวไทยของเราแค่ 1 แสนตันเท่านั้น ที่เหลือเป็นปลาทู “นำเข้า” ทั้งสิ้น

เรื่องนี้เคยเป็นวาระแห่งชาติเล็กๆ เมื่อปี 2562 โดย ไทยรัฐออนไลน์ นี่แหละ ที่เปิดประเด็นขึ้นว่า “คุณรู้จักปลาทูไทยดีแค่ไหน…รู้ไหมว่ามันกำลังจะหมดไปจากโลก” ซึ่งผมย้อนกลับไปอ่านแล้วก็เห็นว่าควรจะหยิบมาเขียนซํ้าอีกครั้งหนึ่ง

ไทยรัฐออนไลน์ส่งทีมไปสัมภาษณ์ผู้รู้ต่างๆ รวมทั้งกรมประมงด้วยหลายสิบคนมาสรุปเป็น กราฟิก ให้อ่านอย่างง่ายๆ 10 นาทีครบจบเรื่องรู้เลยว่าเหตุใดปลาทูไทยจึงจะหมดไปจากประเทศไทย

รายงานเริ่มตั้งแต่ประวัติของปลาทูที่มีหลักฐานว่าคนไทยเรากินมากว่า 300 ปี ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานีโน่นแล้ว

มาฮิตและโด่งดังมากในสมัย ร.5 และกลายเป็นอาหารระดับชาติติดปากคนไทยทั่วประเทศ เพราะสามารถขนจากแม่กลองขึ้นรถไฟไปขายได้ถึงภาคเหนือ และภาคอีสาน ตั้งแต่ยุคโน้น

นั่งอ่านเพลินไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาถึงเรื่องปลาทูในอ่าวไทย ว่าอยู่ที่ไหน? เกิดอย่างไร? วางไข่อย่างไร? เติบโตอย่างไร?

มาจนถึงตัวเลขที่เริ่มหดลงหดลงจากที่เคยจับได้ปีละ 2 แสนกว่าตันในบ้านเรา เหลือไม่ถึงแสนตันอย่างที่ว่า

ไทยรัฐออนไลน์ชี้เปรี้ยงไปที่เครื่องมือจับปลายุคใหม่ที่เรียกว่า I TEM ที่ใหญ่เท่าเครื่องบินลงไปจับทั้งแม่ปลาและลูกปลาในทะเลได้พร้อมๆ กัน…จึงไม่มีลูกปลาทูเหลือมาเป็นปลาตัวโตให้กินในภายหลัง

ขณะเดียวกันแม้กฎหมายจะระบุว่า ตาข่ายอวนต้องกว้าง 4 เซนติเมตร แต่ในข้อเท็จจริงดูเหมือนจะไม่ค่อยเป็นไปตามกฎหมายเท่าไรนัก

กราฟิกของไทยรัฐออนไลน์จบด้วยข้อความตัวโตๆ ว่า “# Save ปลาทูไทย…จับตอนโตคุ้มกำไร กินตอนใหญ่ อร่อยเต็มคำ…Save ปลาทู เมดอินไทยแลนด์” ฝากไว้เป็นคำขวัญแห่งชาติส่งท้าย

ท่านผู้อ่านที่สนใจก็ลองคลิกเข้าดูในกูเกิลนะครับ แค่พิมพ์ว่า “ปัญหาปลาทูไทย” รายงานของไทยรัฐออนไลน์ เมื่อปี 2562 ซึ่งได้รับรางวัลข่าวส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยมในปีดังกล่าวด้วยชิ้นนี้ก็จะโผล่ออกมาให้อ่านในชั่วพริบตา

แต่คำถามที่ตามมาก็คือ…ปีนี้ พ.ศ.2565 แล้ว 3 ปีผ่านไปเรียบร้อยไม่ทราบว่าการ Save ปลาทูไทย จะได้ผลแค่ไหน?

หวังว่าสถานการณ์ “ปลาทูไทย” ของเราคงจะดีขึ้นมาบ้างนะครับ ใน พ.ศ.นี้ หลังจากการรณรงค์อย่างเอาจริงเอาจังของไทยรัฐออนไลน์

ผมเชื่อว่าคนไทยยังรักปลาทูไทยและอยากกินนํ้าพริกปลาทูไทยแท้ๆ มากกว่าปลาทูสัญชาติอื่นๆ…ทำอย่างไรจะให้ปลาทูไทยอยู่คู่ทะเลไทยโดยไม่มีวันหมด มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆก็คงต้องฝาก กรมประมง เอาไว้ด้วย

ขออย่าให้แฮชแท็ก “#Save ปลาทูไทย” ของไทยรัฐออนไลน์หายลับไปกับเกลียวคลื่นในอ่าวไทยนะครับท่านอธิบดี.

“ซูม”

ข่าว, ปลาทู, ไทย, โอมาน, อ่าวไทย, นํ้าพริกปลาทู, ปัญหาปลาทูไทย, ซูมซอกแซก