ผลงานสำคัญ “บิ๊กป๊อก”? รู้แล้ว “คนจน” ล้านคนคือใคร?

ผมอ่านข้อความ “โฆษณา” 4 สีเต็มหน้า 12 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับเมื่อวานนี้ (อังคารที่ 15 มีนาคม) ด้วยความตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง…อ่านแล้วอ่านเล่าอยู่หลายครั้งว่างั้นเถอะ

พาดหัวยักษ์ของโฆษณาชิ้นนี้เริ่มด้วยประโยคที่บิ๊กตู่เคยพูดบ่อยๆ ว่า “รัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”…ทุกความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน “บอกเรา”

ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน-ไม่มีบัตรประชาชน-ลูกหลานติดยาเสพติด-ติดหนี้นอกระบบ-ไม่มีนํ้าประปา/ไฟฟ้าใช้-ไม่มีบ้านอยู่อาศัย-ไม่มีอาชีพ-ไม่มีทุนการศึกษา-ยากจน-ความเดือดร้อนอื่นๆ

“แจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ที่…นายอำเภอ, ปลัดอำเภอ, นายก อบต., นายกเทศมนตรีหรือกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่”

พร้อมกับลงรูปผู้อาวุโสไว้ด้านบน 2 ท่าน สวมหน้ากากอนามัยรัดกุมมิดชิด แต่ก็ยังดูออกว่าท่านที่ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และท่านที่ 2 ก็คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ด้านล่างสุดก็เป็นชื่อหน่วยงานที่ลงโฆษณาแจ้งความชิ้นนี้…ที่ผมไม่ค่อยคุ้นนัก จะบอกว่าเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกก็ว่าได้

นั่นก็คือ ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)

ศจพ. เป็นใคร? มาจากไหน? ผมรีบค้นหาจากกูเกิลทันที ได้รับคำตอบ…ผ่านเว็บไซต์ของ สภาพัฒน์ ว่า ศจพ.ตั้งขึ้นโดย “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่แหละ เพื่อมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประชาชนในทุกมิติ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ให้ใช้ TPMAP ที่ลงอยู่ในหน้าโฆษณายักษ์ด้วย และผมก็งงๆ อยู่ว่าคืออะไร แต่มาทราบจากเว็บไซต์นี้ว่า คือ Thai People Map and Analytics Platform ซึ่งเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐ ที่สามารถระบุได้ว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ไหน? มีปัญหาในมิติใดบ้าง?

ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ขึ้น 1 ชุด มีท่านนายกฯ หรือท่านรองนายกฯ ที่มอบหมายเป็นประธาน มี รมว.มหาดไทยเป็นรองประธาน และอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนเป็นเลขานุการ ชุดล่าสุดลงนามเมื่อ 30 ตุลาคม 2563 นี่เอง

จากนั้นก็มีการตั้งกรรมการล้อลงไปเป็นลำดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัด (ผู้ว่าฯเป็นประธาน) ไปจนถึงระดับอำเภอ (นายอำเภอเป็นประธาน) และระดับปฏิบัติการหรือระดับพื้นที่

ผลการดำเนินงานด้วยการใช้ข้อมูลสำคัญที่กรมพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดเก็บมากว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุค “ป๋าเปรม” คือ ข้อมูล จปฐ. ระดับหมู่บ้านทั่วประเทศไปเทียบกับข้อมูล ผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ของกระทรวงการคลัง ในปัจจุบันทำให้สามารถค้นพบ “ตัวตน” ของ คนยากจน ที่แท้จริงได้ในที่สุด

เรียกว่า “คนจนเป้าหมาย” ซึ่งปรากฏว่าในปี 2565 นี้ สามารถระบุคนจนเป้าหมายได้ทั้งสิ้นถึง 1,025,782 คน!

จนแบบไหน? อย่างไร? อยู่ที่ไหน? ท่านบอกว่าท่านรู้ตัวหมด…

นี่คือบางส่วนที่ผมได้รับคำตอบจาก “อากู๋” กูเกิล เกี่ยวกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือ ศจพ. ที่ว่า

อ่านแล้วก็ “ตะลึง” อยู่พักใหญ่ทีเดียวที่ทราบว่าทุกวันนี้ “มหาดไทย” และ ศจพ. ท่านรู้แจ้งแล้วว่าคนจนอยู่ที่ไหนอย่างไร? และคือใคร?

แต่ที่ยังหาไม่เจอก็คือ ผลความช่วยเหลือว่าทำไปถึงไหนแล้ว? ได้ผลแค่ไหนแล้ว? หายจนไปกี่คนแล้ว? หวังว่าจะได้อ่านเจอในโอกาสหน้านะครับ

อย่างไรก็ตาม ในโฆษณาดังกล่าวก็ยังประกาศรับสมัครคนจนใหม่อยู่ดังที่ผมคัดลอกไว้ข้างต้น

ขอเชิญท่านที่คิดว่ายากจนและเข้าข่ายเดือดร้อนตามข้อกำหนดที่ลงโฆษณาไว้ อย่าลืมติดต่อบุคคลต่างๆตามที่แจ้งไว้นะครับ

ถ้าผมจะเป็นห่วงอยู่บ้างก็ตรงที่ข้อความทั้งหมดที่ลงครั้งนี้เป็นการโฆษณาจึงต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของ สคบ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหมายกำหนดไว้

โฆษณาว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องไม่ทิ้งจริงๆ นะครับ…โฆษณาว่าใครไม่มีบ้านอยู่อาศัยต้องหาบ้านให้เขาอยู่อาศัยได้จริงนะครับ

อย่าให้ “สคบ.” มาทักท้วงภายหลังว่าโฆษณาเกินความจริงก็แล้วกันครับลุง!

“ซูม”

ข่าว, คนจน, รับสมัคร, รัฐบาล, กระทรวง. มหาดไทย, ซูมซอกแซก