โควิดทำให้ “เด็กไทย” ถอยหลัง เห็นด้วยเร่งฟื้นฟู “ปี 2565”

ผมเห็นด้วยกับข่าวท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ท่านกำหนดนโยบายการจัดการเรียนการสอนในปี 2565 หรือปีนี้ ให้เป็นปีแห่งการเน้นการ “ซ่อมสร้าง” ให้เด็กมีคุณภาพ โดยไม่เน้นการสอนที่ต่อยอดสู่ความเป็นเลิศมากนัก

เนื่องจากเด็กๆ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss ขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เหตุเพราะเด็กไทยไม่สามารถจะไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้เหมือนในสถานการณ์ปกติ ต้องหันมาใช้วิธีเรียนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายก่ายกองดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ผมเองถือว่ามีประสบการณ์ด้วยตนเอง เพราะมีหลานวัย 8 ขวบ กำลังเรียน ป.2 กับวัย 4 ขวบ เริ่มเข้าเรียนอนุบาล 1 อพยพหนีภัยโควิด-19 มาอยู่รวมกันที่บ้านผมร่วมๆ 2 ปีเห็นจะได้

มีโอกาสได้ยินได้ฟังและบางครั้งก็ได้เห็นวิธีการสอนจากคุณครูทั้ง 2 ระดับ ตลอดจนได้ยินเสียงดุของลูกสะใภ้ผมซึ่งเป็นแม่ของเด็กจนชินหูว่าอย่างนั้นเถิด

ที่ต้องดุต้องขึ้นเสียงกันอยู่บ่อยๆ ก็เพราะเด็กทั้ง 2 คนแทบไม่ตั้งใจเรียนเอาเสียเลย

ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดอะไรของเด็ก เพราะโดยธรรมชาติเด็กๆ ทั่วโลก ไม่ว่าเชื้อชาติไหน สัญชาติใด ล้วนแต่รักการเล่นมากกว่าการเรียนทั้งสิ้น

เมื่อการเรียนคนเดียวอยู่กับบ้านมันน่าเบื่อเช่นนี้…เด็กๆ ที่ไหนจะตั้งใจเรียนล่ะครับ

ต่างกับการเรียนหนังสือที่โรงเรียน มีเพื่อนร่วมห้องเรียนด้วยกัน ทำให้เกิดบรรยากาศของการแข่งขันบ้าง การช่วยเหลือซึ่งกันและกันบ้าง ถึงเวลาก็ออกไปเล่นพร้อมๆ กัน ทำให้มีกำลังใจที่จะกลับมาเรียนใหม่

ผมจึงเชื่ออย่างสนิทใจที่มีนักการศึกษาหลายท่านออกมาประเมินผลว่าการเรียนการสอนทางออนไลน์ทำให้ความรู้ของเด็กไทยถดถอยลงไปอย่างน้อยก็ 1 ปี หรือปีครึ่งเลยทีเดียว

แต่ผมก็จะไม่ตำหนิใครๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการขี้เกียจ คุณครูขี้เกียจ ไม่เอาใจใส่เด็กๆ หรืออะไรอื่นๆ ที่แสดงถึงความบกพร่องของกระทรวงศึกษาธิการ

ผมตระหนักดีว่าโลกทั้งโลกตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือ อยู่ในภาวะที่จะต่อสู้กับโรคระบาดที่ร้ายแรงมาก และสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หรือภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยกันไปหมดทุกประเทศ

การตัดสินใจสอนด้วยวิธีออนไลน์…นั้นถือว่าดีที่สุดแล้ว อย่างน้อยก็ดีกว่าการปิดโรงเรียนอย่างถาวรกันไปเลยระหว่างโรคระบาด

ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับการสอนแบบ “ซ่อมสร้าง” หรือหันมาเน้นให้เด็กไทยมีคุณภาพมากขึ้นหลังจากต้องสูญเสียคุณภาพไปพอสมควรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นที่จะขอฝากท่านตรีนุชไว้ก็คือ จะต้องระดมมันสมองของบิ๊กๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวง กำหนด “แผนปฏิบัติการ” ในการ “ซ่อม” ออกมาให้ชัดเจนก่อนเปิดเทอมใหม่เดือนพฤษภาคม

จากนั้นก็ให้ทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ ระดับ รวมไปถึงครูบาอาจารย์ที่ทำหน้าที่สอนในโรงเรียนต่างๆ ปฏิบัติตามแผนที่ว่านี้อย่างแข็งขัน

ในกรณีที่ท่านตรีนุชอาจจะอยู่ได้แค่ปลายเดือนพฤษภาคม เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองก็ดูเข้มเหลือเกินในช่วงนี้ และข่าวลือที่ว่ารัฐบาลจะยุบสภาก่อน 22 พ.ค.วันเปิดสภาก็ดังกระหึ่มตลอดสัปดาห์

ก็ไม่เป็นไรครับ ฝ่ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะท่านเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และข้าราชการสำนักงานนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่…ก็ขอให้เดินหน้าปฏิบัติตามแผนต่อไป

นักการเมืองมาแล้วก็ไป…ก็ไม่ว่ากัน เพราะทิศทางการเมืองไทยเราเป็นอย่างนั้น แต่ข้าราชการประจำจะยังคงอยู่ และสามารถดำเนินการตามโครงการต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

ขอให้กระทรวงศึกษาธิการจงประสบความสำเร็จในการทำให้ความรู้ของเด็กไทยที่หายไปกลับคืนมาในที่สุด…และขอขอบคุณรัฐมนตรีตรีนุชด้วย สำหรับนโยบายที่ผมเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมอย่างยิ่ง

ผมภาวนาให้มีโอกาสอยู่นานๆ และได้ทำตามนโยบายข้อนี้อย่างน้อยก็ตลอดปีการศึกษา 2565 นะครับ ท่านรัฐมนตรี.

“ซูม”

ข่าว, การศึกษา, เรียน, ออนไลน์, กระทรวงศึกษาธิการ, โควิด-19, ซูมซอกแซก