ชื่นชมทูต “เกาหลีใต้” ที่ยังไม่ลืม “นํ้าใจ” คนไทย

คนแก่ที่เกิดทัน “สงครามเกาหลี” เมื่อ ค.ศ.1950-1953 หรือ พ.ศ.2493-2496 อย่างผมนั่งอ่านบทสัมภาษณ์ท่านอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย “จอน โจยอง” กับทีมข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา…ก็อดที่จะปลื้มปีติอย่างยิ่งเสียมิได้

ท่านอัครราชทูตเอ่ยประโยคแรกกับทีมข่าวเศรษฐกิจของเราว่า “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคนไทยและประเทศไทย ประเทศแรกในเอเชียที่ส่งทหารและความช่วยเหลือต่างๆ ให้แก่สาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ในช่วงสงครามคาบสมุทรเกาหลีเมื่อครั้งกระโน้น”

“เพราะด้วยความกล้าหาญของทหารไทย ทำให้เกาหลีใต้สามารถรักษาประเทศ รักษาเสรีภาพ และทำให้เกาหลีใต้มีความสงบสุข และสันติภาพมาจนถึงทุกวันนี้”

ช่วงนั้นผมอายุ 10 ขวบพอดิบพอดี ยังเรียนอยู่ ป.3 หรือ ป.4 แต่ก็พอจะอ่านหนังสือได้แตกฉานแล้ว จะแว็บเข้าไปอ่านหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟข้างบ้านแทบทุกวัน

ยังจำได้ว่า ข่าว “สงครามเกาหลี” เป็นข่าวใหญ่อยู่นานมาก และทหารไทยเราก็รบเก่งมาก เอาชนะทหารเกาหลีเหนือและทหารจีนที่มาช่วยเกาหลีเหนือได้ในสมรภูมิสำคัญหลายแห่ง

หน่วยทหารตัวแทนจากประเทศไทยมีฉายาว่า “กองพันพยัคฆ์น้อย” มี พ.ท.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วย ต่อมาเมื่อสงครามสงบแล้ว กองพันพยัคฆ์น้อยก็เดินทางกลับประเทศไทยอย่างวีรบุรุษ

ปลื้มใจจริงๆครับที่ท่านอัครราชทูตเกาหลีใต้กรุณาเอ่ยถึงความหลังเมื่อ 70 ปีที่แล้ว (ผมเดาว่าท่านคงเกิดไม่ทัน) และทีมข่าวเศรษฐกิจของไทยรัฐที่ไปสัมภาษณ์ท่านก็ไม่น่าจะเกิดทัน

โดยความเข้าใจของผม…ผมคิดว่าคนเกาหลีรุ่นใหม่ไม่น่าจะจดจำเหตุการณ์นี้ได้ หรืออาจไม่รับรู้ด้วยซํ้าไป

คนเกาหลีล่าสุดที่สำนึกในเรื่องนี้ก็คือ คุณ ปาร์ค ยองแบ “หนุ่มกตัญญู” ชาวเกาหลีที่บ้านแตกสาแหรกขาด เพราะภัยสงครามยุคนั้นต้องมาอาศัยอยู่ในฐานทัพไทยและได้ข้าวได้นํ้ารับประทานจนสำนึกในพระคุณแผ่นดินไทย เดินทางมาตามหา “นายทหารไทย” พ่อบุญธรรมของเขา เป็นข่าวใหญ่หน้า 1 ไทยรัฐเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว

ช่วงหลังๆ ผมแทบไม่ได้ยินคนเกาหลีพูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก ดังนั้น เมื่อท่านอัครราชทูตได้เอ่ยถึงความหลังพร้อมกับใช้คำว่า “ขอบคุณ” ผมจึงปลาบปลื้มจนนํ้าตาแทบไหลอย่างที่ว่า

ท่านอัครราชทูตเล่าถึงความยากลำบากของเกาหลีใต้หลังสงคราม…ว่าเหมือนเริ่มจากศูนย์เลย ต้องค่อยๆเดิน ค่อยๆ ก้าว ลองผิดลองถูกก่อนที่จะเติบใหญ่กลายเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” อย่างในปัจจุบันนี้

ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผมโดยส่วนตัวในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์และอยู่ในหน่วยงานวางแผนของไทยมานานพอสมควร ตระหนักดีเป็นอย่างยิ่ง

เกาหลีใต้เริ่มต้นจาก “ศูนย์” แต่เราเริ่มต้นจาก “+” คือ มีฐานทางเศรษฐกิจดีกว่าเกาหลีใต้เยอะ…เรา 2 ประเทศ เข้าสู่โรงเรียนธนาคารโลก…เป็นลูกศิษย์ธนาคารโลก-กู้เงินธนาคารโลก และจัดทำแผนเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 เกือบจะใน พ.ศ. หรือ ค.ศ.เดียวกัน

ผลการเรียนหรือการพัฒนาตอนแรกๆ เราก็ไม่แพ้เกาหลีใต้หรอก…เราก้าวหน้ากว่าด้วยซํ้า ถึงขนาดมีข่าวว่าเกาหลีใต้ต้องส่งนักพัฒนาของเขามาดูงานการพัฒนาต่างๆ ในบ้านเราด้วยซํ้าไป

เผลอแผล็บเดียว หลังจากนั้นเรามีเรื่องระหองระแหงกันอยู่ตลอด การเมืองก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้การพัฒนาประเทศเริ่มชะลอตัว

ตรงข้ามกับเกาหลีใต้ ซึ่งก็ทะเลาะกันไม่แพ้เรา แต่อาจเป็นเพราะคนของเขามีวินัยกว่า บึกบึนกว่า อดทนอดกลั้นกว่า และมีความรู้สึกว่ามีเกาหลีเหนือคอยกดดันตลอดเวลา

ทำให้เขาก้าวพรวดๆ จนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว รายได้สูงไปโน่นเลย ในขณะที่ของเราติดกับดักอยู่แค่ “ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง” เท่านั้น

ก็ไม่ว่ากัน…ได้มาแค่นี้ก็ดีแล้ว…เพราะดูดัชนีความสุข ยังไงๆ ประเทศไทยก็น่าจะดีกว่า เนื่องจากเราไม่เครียดมาก ไม่ต้องขยันมากเหมือนคนเกาหลีใต้ เพราะเราไม่มีอะไรกดดัน

จึงถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทยที่ยืนยันว่าพร้อมที่จะมาเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ในการพัฒนาประเทศไทยดังรายละเอียดที่ตีพิมพ์ไว้แล้วในไทยรัฐฉบับดังกล่าว

รัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยากได้ความร่วมมือในเรื่องใดๆ บ้าง ติดต่อไปที่สถานทูตเกาหลีใต้ได้เลยนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, สงคราม, เกาหลี, กองพันพยัคฆ์น้อย, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก