เห็นด้วยช่วย “คนอยากมีลูก” ใช้ “คนละครึ่ง” ลดค่า “เลี้ยงดู”

ผมขออนุญาตท่านผู้อ่าน “ตีเหล็กเมื่อร้อน” หรือ “ตีเหล็กตอนร้อน” ตามสำนวนไทยโบราณ เขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับนโยบาย “มีลูกเพื่อชาติ” ต่ออีกสักวันนะครับ…เพราะยังมีความห่วงใยเรื่องเด็กไทยเกิดน้อยลง…ที่จะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในอนาคต

เมื่อวานนี้ผมเล่าถึงการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข โดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ สาธิต ปิตุเตชะ ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา สรุปถึงสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับอัตราเกิดของเด็กไทยที่ลดลงอย่างมาก โดยมีคุณหมอที่เกี่ยวข้องหลายท่านมาร่วมแถลงด้วย

ทางแก้ก็คือจะต้องเปลี่ยนค่านิยมของหนุ่มสาวหัวหน้าครอบครัวไทยยุคใหม่ ซึ่งไม่ค่อยอยากมีลูก เพราะการเลี้ยงลูกแต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง…ให้หันกลับมาสู่แนวคิดเดิม คือ อยากมีลูกเพื่อสืบสกุลให้มากขึ้น

ว่าแล้วท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านก็สรุปว่า เราจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อหันมาเปลี่ยนค่านิยม คนไทยให้ได้…ยากแค่ไหนก็ต้องทำให้สำเร็จ

ผมเห็นด้วยกับท่าน จึงนำข้อคิดข้อเสนอจากข่าวของท่านและคุณหมอที่ท่านนำมาแถลงข่าวด้วยมาเขียนต่อในคอลัมน์ พร้อมกับกระตุ้นให้มีการดำเนินการอย่างแข็งขันและจริงจังนับตั้งแต่บัดนี้

มาวันนี้ได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์อีก 2 ฉบับ คือ ไทยรัฐ กับ มติชน นำเสนอข่าวในเชิงต่อเนื่องจากการสัมมนาหรือเสวนาในเรื่องเดียวกันนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และจะช่วยเป็นแรงจูงใจในการเปลี่ยนค่านิยมของคู่สมรส หรือครอบครัวหนุ่มสาวให้หันมามีบุตรได้มากขึ้น…ผมจึงขอ “ตีเหล็กเมื่อร้อน” ต่อเสียอีก 1 วัน

น่าเสียดายที่หนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้บอกว่าเป็นการสัมมนาหรือเสวนาในหัวข้อใด ณ ที่ใด เพราะเริ่มขึ้นมาก็รายงานว่ามีคุณหมอที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค “มีบุตรยาก” มาอธิบายถึงปัญหาการมีบุตรยากในประเทศไทย ซึ่งต้องลงทุนลงแรงกันอย่างมากในการรักษา

ต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เรือนแสนไปจนถึงเรือนล้าน โดยเฉพาะการใช้วิธี “เด็กหลอดแก้ว” กว่าจะได้บุตรธิดาตามที่ปรารถนา

จากนั้นข่าวก็รายงานว่า ท่านอาจารย์ รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ แห่งภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แถลงความคิดเห็นส่วนตัวของท่านว่า การรักษาคนไข้มีบุตรยากถือเป็นการช่วยเพิ่มอัตราเกิดให้แก่ประเทศไทยได้ทางหนึ่งก็จริง แต่ก็คงไม่มากนัก

ทางที่ดีที่สุดในการเพิ่มอัตราเกิดก็คือ การสนับสนุนให้ครอบครัวไทยสมัยใหม่ “เปลี่ยนค่านิยม” นั่นเอง…โดยให้หันมานิยมการมีบุตรในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการจูงใจต่างๆ ดังนี้

1.ควรสร้างสถานเลี้ยงเด็กให้เพียงพอ มีคุณภาพ ไว้ใจได้ เพื่อให้พ่อแม่ สามารถพาลูกมาฝากเลี้ยงในช่วงเวลาทำงานได้ด้วยความสบายใจและมั่นใจ

2.ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กปัจจุบันแพงมาก ตั้งแต่นมเลี้ยงเด็ก เสื้อผ้าเด็กอ่อน ผ้าอ้อม ตลอดจนของใช้ต่างๆ ควรนำนโยบาย “คนละครึ่ง” ที่ใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 ขณะนี้ มาปรับรูปแบบเพื่อใช้ในการซื้อสินค้าสำหรับเด็ก เพื่อจูงใจพ่อแม่รุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

3.จูงใจด้วยนโยบายลดหรือเว้นภาษีสำหรับคนที่มีลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นเวลาเท่านั้นปีเท่านี้ปีตามเหตุผล หรือให้มีสิทธิพิเศษสำหรับลูกคนเล็ก ฯลฯ เป็นต้น

4.ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนโรงเรียนอนุบาลเอกชนก็แพงมาก เป็นภาระอย่างยิ่งแก่พ่อแม่วัยสร้างตัว ดังนั้น หากจะจัดให้มีโรงเรียนอนุบาลของรัฐที่มีคุณภาพและค่าใช้จ่ายสมเหตุผล ก็จะเป็นสิ่งจูงใจที่ดีอีกประการหนึ่ง

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณหมอทุกๆ ข้อครับ ขออนุญาตนำมาเสนอต่อเพื่อให้รัฐบาลนำไปเป็นมาตรการเพื่อการปฏิบัติต่อไป

ต้องขอขอบคุณการประชุมสัมมนาที่หนังสือพิมพ์มิได้ระบุว่า เป็นการจัดขึ้นที่ใด ในหัวข้อใด…แต่ระบุว่า จัดเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ และคุณหมอหลายท่านมาร่วมในการให้ความรู้ เช่น ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ ดังกล่าว เป็นต้น

ผมกำลัง “อิน” อยู่กับนโยบายคนละครึ่งขณะนี้อย่างมาก และใช้ซื้ออาหารอร่อยๆ มากินแทบทุกวัน…จึงขอสนับสนุนข้อเสนอของคุณหมอในประเด็น “คนละครึ่ง” สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กมากที่สุด

รีบดำเนินการเลยนะครับ “บิ๊กตู่” ทำเป็นโครงการระยะยาวอย่างถาวรต่อไปเลย แม้จะหมดยุคโควิด–19 แล้วก็ตาม.

“ซูม”

ข่าว, มีลูก, อัตราเกิด, คนละครึ่ง, เศรษฐกิจ, เด็ก, ซูมซอกแซก