ควันหลงสัมมนา “คมนาคม” “ขอบคุณ” & “ห่วงใย” (อีกครั้ง)

ผมยังมีโควตาที่จะเขียนเรื่องแห้งๆ อีก 1 วัน เพราะอยู่ระหว่างเดินทางไปร่วมพิธีมอบโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 110 (บ้านชมภูพาน) ที่จังหวัดสกลนคร ดังที่เรียนท่านผู้อ่านไว้แล้ว

พลิกดูสมุดบันทึกประจำวันของผมแล้วก็พบว่า เมื่อวันที่ ไทยรัฐกรุ๊ป ของเราจัดสัมมนาระดับชาติ ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” เมื่อเร็วๆ นี้นั้น ผมมีโอกาสได้นั่งสนทนากับวิทยากรที่จะมาให้ความรู้ในการเสวนาท่านหนึ่ง

ท่านประธาน สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย คุณ สุวิทย์ รัตนจินดา นั่นเอง ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจ ข่าวธุรกิจของบ้านเราคงจะคุ้นเคยกับชื่อเสียงของท่านอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

คุณสุวิทย์มาร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนของกลุ่มธุรกิจที่จะใช้บริการจากการลงทุนด้านต่างๆของกระทรวงคมนาคมด้วยเม็ดเงิน ถึง 1.4 ล้านล้านบาท ที่ท่านรัฐมนตรีคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นำมาแถลงในการสัมมนาครั้งนี้

คุยกับท่านแล้วก็ได้ความรู้ว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณปีละ 1 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 20,000 ราย ทั่วประเทศ และเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้แก่ประเทศเป็นอันดับ 3 รองจากธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าปลีก ในช่วงปีหลังๆ

ธุรกิจโลจิสติกส์แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ การขนส่งทางนํ้า ทางอากาศ ทางบก คลังสินค้า และการขนส่งสินค้าจากร้านค้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ที่เรียกกันว่า last mile

ท่านเล่าว่าผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจขนส่งในบ้านเราในกลุ่ม last mile เติบโตแบบก้าวกระโดดกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง เพราะผู้บริโภคหันมานิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น

ส่วนการขนส่งอื่นๆ โดยเฉพาะทางนํ้าขยายตัวเล็กน้อย ทางอากาศหยุดกึกไปเลย แม้จะฟื้นบ้างในช่วงหลังๆ แต่ก็ยังไม่มากนัก ก็ต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไปกว่านี้ ทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะดีขึ้น

ฟังจากคุณสุวิทย์แล้วก็เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าธุรกิจโลจิสติกส์นั้นเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเพิ่มรายได้ของประเทศไทยเรา และควรจะต้องส่งเสริมหรือพัฒนากันต่อไป

ดังนั้น การลงทุนในโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ดังที่ท่านรัฐมนตรีนำมาแถลงไว้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็น่าห่วงใยอย่างยิ่งควบคู่กันไป เพราะมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูงมากในปัจจุบัน

ไม่เหมือนการลงทุนเพื่อโลจิสติกส์ในอดีตซึ่งไม่ยาก เพราะยังขาดแคลนอยู่ ตัดถนนไปที่ไหนก็คุ้มค่าที่นั่น

ผมยังจำได้ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากถนนทุกสายทั่วประเทศไทยมากที่สุดคนหนึ่งก็คือท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ของไทยรัฐนี่เอง

ท่านจะมีคนคอยประสานงานกับกรมทางหลวงในยุคโน้น…คอยถามว่าจะตัดถนนไปที่ไหนบ้าง? และตัดเสร็จหรือยัง?…เพราะทันทีที่เสร็จ ท่านจะใช้รถขนส่งหนังสือพิมพ์ของท่าน ขนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไปวางขายในตลาดริมถนนตัดใหม่เส้นนั้น ในอีกไม่นานต่อมา

เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในการเพิ่มยอดจำหน่ายของไทยรัฐในอดีต

นอกจากไทยรัฐแล้วก็มีรถขายยา รถขายสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทผงซักฟอก ยาสระผม หรือแม้แต่รถนํ้าปลา ฯลฯ บุกเข้าสู่ตำบล และหมู่บ้านต่างๆ…ใช้ประโยชน์จากถนนทุกสายเต็มที่

แต่การลงทุนโลจิสติกส์จากนี้เป็นต้นไป เริ่มมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น… เพราะเราจะต้องดึงผู้มาใช้ประโยชน์จากต่างประเทศมาใช้มากขึ้น เพราะลำพังคนไทยอย่างเดียวจะไม่คุ้ม

นักลงทุนต่างประเทศจะต้องมา นักท่องเที่ยวจะต้องมา สินค้าไทยต้องขายได้มากในต่างแดน ฯลฯ การลงทุนเหล่านี้จึงจะคุ้ม

ผมเข้าใจเจตนาอันดีงามและความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยโครงการใหม่ๆทันสมัยของกระทรวงคมนาคม แต่ก็อดเป็นห่วงเสียมิได้ เพราะผู้ที่จะมาใช้ประโยชน์นั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นคนนอกที่เราควบคุมไม่ได้

แม้ทางหนึ่งผู้ใช้ที่เป็น “คนใน” หรือ “คนไทย” อันได้แก่ บริษัทไทยๆ ภายใต้สังกัดของ สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ของคุณ สุวิทย์ รัตนจินดา ที่ผมต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนมหาศาลทั้งหมด…เพราะเรายังต้องการผู้เข้ามาใช้ประโยชน์จากต่างประเทศด้วย (อย่างมาก)

ผมจึงได้เขียนทั้งขอบคุณกระทรวงคมนาคมและขณะเดียวกันก็ฝากความห่วงใยอย่างใหญ่หลวงไว้ด้วยพร้อมๆ กันเมื่อครั้งที่แล้ว

ทุกวันนี้ก็ยังห่วงใยนะครับ ยิ่งโควิด-19 ซาช้าเหลือเกินทั่วโลกแบบนี้ ยิ่งน่าห่วงมากที่สุด.

“ซูม”

ข่าว, สัมมนา, คมนาคม, โควิด-19, ท่องเที่ยว, โลจิสติกส์, ซูมซอกแซก