อาลัย “ไวพจน์+ศรเพชร” 2 ตำนาน “ลูกทุ่ง” สุพรรณ 16 ม.ค. 2565

ขึ้นปีใหม่ 2565 เพียงไม่กี่วัน วงการเพลงลูกทุ่งไทยก็ต้องสูญเสียนักร้องรุ่นใหญ่ระดับ “ตำนาน” ของเพลงลูกทุ่งไปถึง 2 ท่าน…ขออนุญาตใช้สรรพนามว่า “ท่าน” เลยนะครับ… เพราะ “ท่าน” ทั้ง 2 ยิ่งใหญ่จริงๆ

ท่านแรกเสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 มกราคม ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะนํ้าท่วมปอดหลังจากเข้ารักษาตัว เพราะอาการป่วยเรื้อรังบริเวณ กระเพาะอาหาร…สิริอายุ 72 ปี ได้แก่ ศรเพชร ศรสุพรรณ เจ้าของเสียงเพลงโด่งดังมากๆในอดีต เช่น “ข้าวไม่มีขาย”, “ไอ้หวังตายแน่”, “เข้าเวรรอ”, “มอเตอร์ไซค์ทำหล่น” และ ฯลฯ

ท่านที่สองเสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 มกราคม เพียง 4 วันให้หลังเท่านั้น ด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด หลังจากเข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลตากสิน…สิริอายุ 79 ปี ได้แก่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติประเภทศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) พ.ศ.2540 เจ้าของเพลงฮิตในอดีต เช่น “แตงเถาตาย”, “หนุ่มนารอนาง”, “สาละวันรำวง” ฯลฯ และเพลงแหล่อีกจำนวนมาก

นอกจากอายุของท่านทั้ง 2 จะใกล้เคียงกัน คือผ่านหลัก 70 ไปแล้วทั้งคู่…ก็ปรากฏว่าทั้ง 2 ท่านยังเป็นนักร้องเลือดเนื้อเชื้อไขสุพรรณบุรี ดินแดนแห่งตำนานเพลงลูกทุ่ง ในยุค 50 ปีที่ผ่านมาด้วยกันอีก

ศรเพชรนั้นเกิดที่ อำเภออู่ทอง ส่วนไวพจน์ เกิดที่อำเภอบางปลาม้า…ซึ่งทั้งคู่ก็ประกาศให้ทราบถึงถิ่นเกิดอย่างชัดเจนผ่านนามสกุลในชื่อ ที่ใช้ร้องเพลง คือ “ศรสุพรรณ” กับ “เพชรสุพรรณ” นั่นเอง

การจากไปของทั้ง 2 ท่านนำความโศกเศร้าเสียใจและเสียดายมาสู่ญาติมิตรและแฟนเพลงทั่วประเทศเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งหัวหน้าทีมซอกแซก ซึ่งเป็นแฟนเพลงลูกทุ่งคนหนึ่ง และได้ติดตามผลงานของทั้ง 2 ท่านมาโดยตลอด

จึงใคร่ถือโอกาสนี้เขียนถึงทั้ง 2 ท่านไปพร้อมๆ กัน ในคอลัมน์ซอกแซกวันนี้

ด้วยอายุและการเข้าสู่วงการเพลงก่อนของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ หัวหน้าทีมซอกแซก จึงรู้จักและคุ้นเคยกับเพลงของไวพจน์มากกว่า ศรเพชร ศรสุพรรณ อยู่พอสมควร

นอกจากเพลง “หนุ่มนารอนาง” ที่ร้องกันติดปากๆ หนุ่มๆ ทั่วไปในยุคนั้น ว่า “เมื่อถึงเดือนเมษา หนุ่มบ้านนานั่งฝัน” แล้ว เพลงของไวพจน์ที่หัวหน้าทีมซอกแซกชอบเป็นพิเศษ ได้แก่เพลง “แตงเถาตาย” นั่นแหละครับ

ชอบในฐานะที่เพลงนี้ช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ การพัฒนาประเทศทางด้านการพัฒนาทางหลวงเอาไว้อย่างแยบยลยิ่ง…โดยกล่าวถึงเส้นทาง ถนนพหลโยธิน ตั้งแต่รังสิตขึ้นไป ซึ่งสมัยก่อนเต็มไปด้วยร้านขายแตงโมเรียง รายอยู่ริมถนนเป็นตับ

ใครจะไปนึกละว่าอีกเพียงไม่กี่ปีให้หลังถนนเส้นนี้ จะเป็นประตูขึ้นสู่ภาคเหนือและภาคอีสานที่ยิ่งใหญ่มาก กลายเป็นถนน “สิบเลน” แล้วกระมัง เพราะใหญ่เหลือเกิน

ที่สำคัญ 2 ฟากทางไม่มีร้านขายแตงโมอีกแล้ว มีแต่ตึกรามบ้านช่องขนาดใหญ่ มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฯลฯ รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ก็มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ของหัวหน้าทีมนั่นแหละ ไปตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธินแทน

ทำให้เนื้อเพลงที่ไวพจน์ร้องว่า “ตั้งแต่รังสิตไปจนติดบางปะอิน พหลโยธินมีของกินไม่น้อย…แม่ค้าตาหวานนั่งร้านแผงลอยปากนิดจมูกหน่อยนั่งร้อยพวงมาลัย” ไม่หลงเหลือ อยู่อีกเลย

นอกจากจะชอบเพลง “ลูกทุ่ง” ของไวพจน์แล้ว ที่หัวหน้าทีมชอบมากเป็นพิเศษก็ตรงที่ท่านเชี่ยวชาญและร้องเพลงพื้นบ้านได้ด้วย…แหล่เก่งมากด้นได้ทั้งกลอนแห้งกลอนสด เพลงฉ่อยก็ได้ เพลงอีแซวก็ได้ สมแล้วกับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติที่ท่านได้รับ

ในส่วนของ ศรเพชร ศรสุพรรณ นั้น หัวหน้าทีมซอกแซกรู้จักท่านครั้งแรกจากเพลง “ข้าวไม่มีขาย” ที่ฮิตระเบิดและได้รับรางวัล “เสาอากาศทองคำ” เมื่อ พ.ศ.2518

นอกจากเนื้อร้องจะกินใจแล้ว เสียงร้องของศรเพชรซึ่งไปทาง “แหลมคม” ระคนลูกคอ 3 ชั้นยังสามารถดึงอารมณ์คนฟังให้รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนแทนเจ้าหนุ่มที่ไม่มีข้าวขาย เพราะดินฟ้าอากาศแห้งแล้งจนข้าวในนาเสียหายหมด จึงไม่มีเงินมาเป็นสินสอดขอหมั้นผู้หญิงที่ตนรัก

ฟังแล้วก็อดนึกไม่ได้ว่า ถ้าเราเป็น “ผู้หญิง” ที่ศรเพชรมาออดอ้อน เราคงต้องใจอ่อนอย่างแน่นอนกับลีลาและน้ำเสียงของศรเพชรในเพลงนี้

จากนั้นมาก็ชอบเพลงของศรเพชรทุกเพลงไม่ว่าจะเป็นเพลงเศร้าแบบ “ใจจะขาด” หรือสนุกสนานเฮฮาอย่าง “ไอ้หวังตายแน่” เป็นต้น

ครับ บัดนี้ทั้ง 2 ท่านจากพวกเราไปแล้ว แต่ “เพลง” ที่ท่านขับร้องไว้และ “น้ำเสียง” ที่ท่านใช้ขับร้องทุกๆเพลงจะยังคงอยู่กับประเทศ ไทยไปตลอดกาล โดยเฉพาะในยุคไฮเทค อย่างทุกวันนี้ เพลงที่ทั้ง 2 ท่านขับร้องนั้นได้รับการเก็บบันทึกไว้อย่างดี และหาฟังได้ง่ายมากในยูทูบ

รวมทั้งอัลบั้ม ที่ทั้ง 2 ท่านในฐานะ “คนสุพรรณ” ได้บันทึกไว้ด้วยเพลงของ “แอ๊ด คาราบาว” เลือดสุพรรณด้วยกัน…ได้แก่อัลบั้ม “มันส์ยกนิ้ว 1–2” ที่หัวหน้าทีมชอบมาก เมื่อออกสู่ท้องตลาดหลายปีก่อน

นึกไม่ถึงจริงๆว่า ไวพจน์ จะร้องเพลง “เวลคัม ทูไทยแลนด์”, “ซาอุดร” ได้สนุกไม่แพ้ แอ๊ด…โดยเฉพาะเพลง “เดือนเพ็ญ” เวอร์ชันไวพจน์ ฟังแล้วมีความโดดเด่นฉีกไปจากเพลง “เดือนเพ็ญ” ที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา

ยิ่งของ ศรเพชร ยิ่งเหลือเชื่อเลย กับเพลง “วณิพก”, “สุรชัย สามช่า”, “บัวลอย”, “เมดอินไทยแลนด์” และ “นางงามตู้กระจก”

สมัยนี้คงเรียกกันว่า Cover ซึ่งศรเพชรก็สามารถ Cover ได้อย่างสุดยอด โดยเฉพาะ “นางงามตู้กระจก” นั้น ฟังเวอร์ชันศรเพชรแล้วแทบจะลืมเวอร์ชัน “เทียรี่ เมฆวัฒนา” ไปเลย

ทราบว่า ล่าสุดได้มีการนำอัลบั้ม “มันส์ยกนิ้ว 1–2” มาลงไว้ในยูทูบแล้ว ใครที่คิดถึง 2 ตำนานลูกทุ่งที่จากไปแต่เพียงร่างกายเท่านั้น เพราะ “วิญญาณ” และ “เสียงเพลง” อันอมตะของท่านยังอยู่กับเราตลอดไป…โปรดคลิกเข้าไปรับฟังกันได้นะครับ”.

“ซูม”

ข่าว, นักร้อง, ลูกทุ่ง, เสียชีวิต, ศรเพชร ศรสุพรรณ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ซูมซอกแซก