“กระทงหลงทาง” 2564 “เงินสะพัด” ต่ำสุดใน 10 ปี

วันนี้ศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินไทย เป็น “วันลอยกระทง” 1 ในประเพณี อันเก่าแก่ที่พวกเราชาวไทยช่วยกันสืบสานมาตั้งแต่รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัยเป็นเวลากว่า 700 ปี เข้านี่แล้ว

ตามตำนานระบุว่าการลอยกระทงเป็นประเพณีหนึ่งของอินเดียและมีการเผยแพร่มาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต จนเป็นที่ยอมรับของหลายๆ ประเทศในย่านนี้…แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีนั่นแหละ คนไทยเราไม่ใช่สักแต่รับอย่างเดียว…มีการนำมาตกแต่งผสมผสานด้วยจนกลายเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ของเราเองในที่สุด

ดังนั้นไม่ว่าประเพณี “สงกรานต์” หรือ “ลอยกระทง” ที่เผยแพร่มาจากที่อื่นๆ นั้นของเราจึงยิ่งใหญ่กว่าของใครเพื่อน…และกลายเป็นว่าเมื่อชาวโลกยุคปัจจุบันพูดถึง “สงกรานต์” หรือ “ลอยกระทง” ก็จะนึกถึง ประเทศไทย เป็นหลัก และจะแห่กันมาเที่ยวหรือมาร่วมสนุกกับ คนไทยในทั้ง 2 ประเพณีนี้กันอย่างท่วมท้นในแต่ละปี

กลายเป็น “จุดขาย” ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

ด้วยเหตุนี้หลายๆ ปีที่ผ่านมา ทั้งเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลลอยกระทงจึงคึกคักมาก เงินสะพัดแบบหมุนจี๋มาตลอดจากการออกเที่ยวหรือร่วมสนุกสนานทั้งคนไทยเราเองและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสมทบ

เพิ่งจะมาในช่วง 2 ปีหลังที่เกิดภาวะโรคระบาด “โควิด-19” นี่แหละครับ ที่ทำให้งานทั้ง 2 ของเราหงอยเหงาไปถนัดใจ

โดยเฉพาะปีนี้เจอโควิดมาตั้งแต่สงกรานต์มาจนถึงเดือนพฤศจิกายนเพิ่งจะ “ผ่อนคลาย” และรัฐบาลเพิ่งตัดสินใจเปิดประเทศแบบระมัดระวังตัวเมื่อ 1 พฤศจิกายนนี่เอง

ภาวะเศรษฐกิจและเงินหมุนเวียนจากเทศกาล “ลอยกระทง” จึง พลอยหดหายลงไปด้วย ถึงขนาดมีการคาดหมายกันว่าตัวเลขเงินสะพัดของปีนี้น่าจะต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้เอง…มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยท่านอธิการฯ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า จากการสำรวจเมื่อ 8-12 พฤศจิกายน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,350 คนทั่วประเทศ แม้จะพบว่าประชาชนจะออกไปลอยกระทงมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว

แต่เงินสะพัดในช่วงลอยกระทงจะอยู่ที่ประมาณ 9,147 ล้านบาท เท่านั้น ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นปีน้ำท่วมใหญ่เป็นต้นมา

ตัวเลขนี้ยังหดตัวไป 3 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย ถือว่าเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2560

เหตุเพราะผู้คนจะใช้จ่ายน้อยลง โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนจะอยู่ที่ 1,280 บาทเท่านั้น ลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1,348 บาทต่อคน

แม้ส่วนใหญ่ยังจะเป็นการจ่ายในเรื่องค่าอาหาร หรือเพื่อการสังสรรค์เช่นปีก่อน แต่จากการประหยัดและระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากยังกังวลต่อรายได้และต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นมากนัก รวมไปถึงความวิตกโควิด-19 ด้วย…เป็นเหตุให้ยอดรวมของค่าใช้จ่ายลดลงไปดังกล่าว

ผมเห็นด้วยกับคำพยากรณ์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าครับ ว่าในเรื่อง “คึกคัก” น่าจะคึกคักแน่นอน เพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาผม แวะไปศูนย์การค้าและร้านอาหารยอดนิยมบางร้านพบว่าผู้คนแน่นมาก

เพราะฉะนั้นที่คาดว่าผู้คนจะคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา จึงน่าจะถูกต้องเพราะคนไทยคงอยากออกเที่ยวกันแล้วละ เนื่องจากอัดอั้นมานาน ส่วนที่ว่าค่าใช้จ่ายจะน้อยลงก็น่าจะถูกอีก เพราะยังไงๆคนไทยก็ยังไม่ค่อยมีสตางค์ในช่วงนี้คงจะใช้วิธีเที่ยวอย่างประหยัดอย่างที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวไว้

ก็เอาเถอะครับ แม้เงินจะหมุนน้อยลงบ้างก็ไม่เป็นไร…ขอให้เริ่ม มีสัญญาณที่ดีว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะฟื้นตัวก็แล้วกัน ซึ่งท่านอาจารย์ธนวรรธน์ ก็เชื่อเหมือนสภาพัฒน์ว่าต้นปีหน้าน่าจะฟื้นแน่ๆ

สรุปว่าปีนี้ “กระทง” อาจจะ “หลงทาง” เหมือนเพลงของ ไชยา มิตรชัย ไปบ้าง…คือรายได้ลดลง…ก็ช่างเถอะ ขอให้อดทนอดกลั้นไว้ก่อน

หวังว่าปีหน้าเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างฟื้นได้เต็มที่แล้ว กระทงก็คงจะเลิกหลงทางกลับมาคึกคักเต็มรูปแบบทั้งในแง่คนออกเที่ยวและเงินใช้จ่ายที่อู้ฟู่เหมือนเดิมหรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

สุขสันต์วันลอยกระทงครับ อย่าลืมลอยไป ยกการ์ดสูงไปด้วยนะครับ ยอดติดเชื้อใหม่ ขณะที่เขียนต้นฉบับยังอยู่ที่ 6,524 รายจ้า.

“ซูม”

ข่าว, ลอยกระทง,​ เทศกาล, เศรษฐกิจ, โควิด-19, ซูมซอกแซก